ใครมีสิทธิรับบริการเจาะเลือดถึงบ้าน ฟรี! มาเช็คเลย
หลายครั้งญาติผู้ป่วยปรึกษาหมอว่า ไม่สามารถพาคนไข้มาเจาะเลือดที่โรงพยาบาลได้ เนื่องจากผู้ป่วยเป็นผู้ป่วยติดเตียง เดินทางลำบาก จะมาเจาะเลือดทีต้องจ้างรถพยาบาล มีค่าใช้จ่ายสูง...
อัพเดทล่าสุด ทางสปสช.ได้มีโครงการเพื่อผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งทั้งสะดวกและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยได้ หมอจึงขอนำข่าวดีมาฝากกันค่ะ
แนะนำโครงการ “เจาะเลือดถึงบ้าน” “ตรวจแล็บใกล้บ้าน”
เจาะเลือด-ตรวจแล็บใกล้บ้านคืออะไร?
เป็นการให้บริการเจาะเลือด เก็บสิ่งส่งตรวจ พร้อมทำการตรวจวิเคราะห์ผลแล็บ (Lab) เพื่อผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่มีใบสั่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากหน่วยบริการ
มีช่องทางติดต่ออย่างไรบ้าง?
- ผู้ป่วยสามารถไปรับบริการที่คลินิกเทคนิคการแพทย์
- ผู้ป่วยติดต่อให้ไปเจาะเลือดที่บ้าน (เงื่อนไขต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียง, มีภาวะพึ่งพิง)
โดยโครงการนี้จะเน้นไปที่กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการและทุพพลภาพ และผู้ที่มีภาวะเสี่ยงโรคอ้วน ซึ่งผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนับเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการการดูแพิเศษ และมีสิทธิในการเข้าถึงโครงการนี้
สำหรับ 9 โรงพยาบาลนำร่อง มีที่ไหนบ้าง?
- โรงพยาบาลกลาง
- โรงพยาบาลตากสิน
- โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
- โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ
- โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์
- โรงพยาบาลลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
- โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
- โรงพยาบาลสิรินธร
- โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
ผลเลือดตัวไหนบ้างที่สามารถเจาะตรวจได้?
- กรณีผู้ป่วยนอก (OP) 22 รายการ ตามหมวดหมู่ดังนี้
- การตรวจหาความเข้มข้น และความผิดปกติของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC )
- การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (Blood Sugar)
- การตรวจน้ำตาลสะสม (HbA1C)
- การตรวจระดับไขมันในเลือด (Lipid Profile: Cholesterol, HDL, LDL, Triglyceride)
- ตรวจการทำงานของตับ (Liver Function Test : SGOT, SGPT, ALK, Total Protein, Total bilirubin, Direct bilirubin, Albumin)
- การตรวจการทำงานของไต (BUN, Creatinine)
- การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis)
- การตรวจไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg)
- บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 2 รายการ
- ตรวจการตั้งครรภ์
- ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ด้วยวิธีการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (กลุ่มเป้าหมายอายุ 50-59 ปี)
โดยผู้ป่วยที่เข้าเงื่อนไขตามกลุ่มเป้าหมายของสปสช. สามารถเข้ารับบริการได้ที่คลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ร่วมโครงการได้ โดยไม่ต้องมีใบสั่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และ ***หน่วยบริการไม่สามารถเรียกเก็บเพิ่มเติมจากผู้รับบริการได้***
สรุปขั้นตอนกันชัดๆอีกที
- แพทย์เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมผู้ป่วยก่อน ผู้ป่วยสามารถสอบถามแพทย์ผู้ดูแลประจำของตนเพื่อเข้าร่วมโครงการ ว่าสามารถเข้าร่วมโครงการได้หรือไม่
- ขั้นตอนการเจาะเลือด นักเทคนิคการแพทย์จะนัดหมายรับข้อมูลผู้ป่วย แผนที่บ้านพร้อมอุปกรณ์เก็บสิ่งส่งตรวจ จากนั้นจะโทรประสานนัดหมายและเดินทางไปเจาะเลือดหรือเก็บสิ่งส่งตรวจถึงบ้าน
- การรับฟังผลเลือดที่เจาะไป
หากผู้ป่วยมีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการปกติและแพทย์เห็นสมควร ก็สามารถรับ “บริการรักษาทางไกล” หรือ Telemedicine ได้ โดยข้อมูลผลตรวจทางห้องปฏิบัติการจะถูกส่งต่อให้แพทย์เพื่อใช้ในการวินิจฉัย และติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยผ่านระบบ Video Call
🩸ประชาสัมพันธ์ โครงการ เจาะเลือดที่บ้าน โรงพยาบาลกลาง🩸
โรงพยาบาลกลาง สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
- สิทธิ ต้นสังกัด (สิทธิเบิกจ่ายตรงและสิทธิกรมบัญชีกลาง)
- สิทธิประกันสุขภาพ รพ.กลาง และเป็นรายที่ยกเว้น 30 บาท
- สิทธิประกันสังคม รพ.กลาง
สามารถแสดงความจำนง เพื่อรับบริการได้ที่แผนกที่ท่านมีนัด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: สายด่วน สปสช. 1330
CR:
https://www.thecoverage.info
เวชนิทัศน์ โรงพยาบาลกลาง
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท