เช็ค! ขั้นตอนที่ถูกต้อง ทำความสะอาดหลังการขับถ่ายในผู้ป่วยติดเตียง

ผู้ป่วยหลายท่านที่ติดเตียงมักมีปัญหาแผลกดทับตามมา จากการนอนนาน ไม่ได้รับการพลิกและหายภาพอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามมีอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการดูแลความสะอาดของผู้ป่วย โดยเฉพาะหลังการขับถ่าย 

การทำความสะอาดผิวหนังที่ไม่สะอาดพอ ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวได้รับการระคายเคืองก่อให้เกิดความต้านทานของผิวหนังลดลง เนื้อเยื่อเกิดผื่น ฉีกขาด ติดเชื้อและเป็นแผลกดทับได้ในที่สุด
วิธีทำความสะอาดหลังการขับถ่ายในผู้ป่วยติดเตียง

วันนี้หมอจะมาแนะนำขั้นตอนการทำความสะอาดสำหรับผู้ป่วยติดเตียงให้ท่านผู้อ่านได้ลองนำไปปรับใช้กันค่ะ 

ขั้นตอนการทำความสะอาดหลังการขับถ่ายในผู้ป่วยติดเตียง 

  1. ควรล้างมือให้สะอาดก่อนทำความสะอาด 
  2. กรณีผู้ป่วยติดเตียงถ่ายบนเตียง ควรล้างทวารโดยการใช้หม้อนอน (Bed pan) หรือรองไว้ด้วยแผ่นซับรองก้น เพื่อไม่ให้ซึมลงเตียงนอนค่ะ 
  3. ล้างชำระด้วยน้ำและสบู่ โดยผู้ดูแลใส่ถุงมืออนามัย ใช้สำลีทำความสะอาดชุบน้ำสบู่หมาดๆ
  4. เช็ดทำความสะอาดให้ทั่วบริเวณทวาร โดยเน้นย้ำให้เช้ดจากด้านหน้าไปด้านหลังผู้ป่วยค่ะ (จากอวัยวะเพศไปทางรูทวารหนัก) เพื่อป้องกันการย้อนกลับมาติดเชื้อจากอุจจาระที่อยู่ด้านหลังเข้าสู่ทางเดินปัสสาวะด้านหน้าของผู้ป่วย
  5. นำสำลีที่ใช้แล้วทิ้งใส่ถุงขยะ เช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังสัก 2-3 รอบให้สะอาด แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดที่เตรียมไว้
  6. ซับด้วยผ้าแห้งสะอาดอีกครั้ง เพื่อป้องกันการอับชื้น อันนำมาสู่การเกิดแผลกดทับ
  7. ผู้ดูแลนำสิ่งปฏิกูลในหม้อนอนไปทิ้งลงชักโครกในห้องน้ำตามปกติ ล้างทำความสะอาดหม้อนอนแล้วผึ่งแห้งไว้ ที่ผนังห้องน้ำ ล้างมือให้สะอาดหลังทำความสะอาดผู้ป่วย

เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำความสะอาด การดูแลการขับถ่ายผู้ป่วยติดเตียงแล้วค่ะ

ลองนำไปปรับใช้กันที่บ้านนะคะ ^^

การทำความสะอาดผิวหนังที่ดี จะช่วยป้องกันการระคายเคืองของผิวหนัง ป้องกันการเกิดผื่น  การติดเชื้อและแผลกดทับได้ จึงเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ผู้ดูแลทุกท่านควรใส่ใจค่ะ

อ่านเพิ่มเติม

 

บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท