เทคนิคการดูแลการขับถ่ายผู้ป่วยติดเตียง-ป้องกันแผลกดทับ

การเช็ดทำความสะอาด หลังจากขับถ่ายให้กับผู้ป่วยติดเตียงจะช่วยป้องกัน การเกิดแผลกดทับ จากการขับถ่ายปัสสาวะ-อุจจาระของผู้ป่วยติดเตียงที่ก่อให้เกิดความเปียกชื้นต่อผิวหนัง หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผื่นแผลจากฉี่กัด อึกัด นั่นเอง

การทำความสะอาดผิวหนังที่ไม่สะอาดพอ ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวได้รับการระคายเคืองก่อให้เกิดความต้านทานของผิวหนังลดลง เนื้อเยื่อเกิดผื่น ฉีกขาด ติดเชื้อและเป็นแผลกดทับได้ในที่สุด

เทคนิคการดูแลการขับถ่ายผู้ป่วยติดเตียง-ป้องกันแผลกดทับ

วันนี้หมอขอมาแนะนำเทคนิคการดูแลการขับถ่ายผู้ป่วยติดเตียงเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ 

เริ่มจากเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมก่อน

  1. สำลีทำความสะอาด ที่นิมใช้จะเป็นสำลีแผ่นใหญ่หนา อาจซื้อเป็นสำลีม้วนแล้วนำมาตัดแบ่งเองได้ เพื่อประหยัดเงิน
  2. สบู่เหลว ยี่ห้อใดก็ได้ที่ใช้ตามปกติ 
  3. ขวดบรรจุน้ำทำความสะอาด
  4. ถุงขยะ
  5. หม้อนอน (Bed pan) สำหรับผู้ป่วยที่สามารถบอกความต้องการได้

อุปกรณ์เหล่านี้สามารถใส่ไว้ในรถเข็นเล็กๆ หน้าตาเหมือนรถเข็นตามห้างสรรพสินค้า หรืออาจใช้เป็นตู้เก็บของขนาดเล็กที่มีล้อเลื่อน จัดให้เป็นสัดส่วนก็ได้เช่นกันค่ะ เนื่องจากต้องยกไปมาบ่อยๆ ผู้ดูแลจะได้ไม่ต้องเหนื่อยยกของมาก ประหยัดแรงค่ะ 

ขั้นตอนการทำความสะอาดหลังการขับถ่ายในผู้ป่วยติดเตียง 

  1. ควรล้างมือให้สะอาดก่อนทำความสะอาด 
  2. กรณีผู้ป่วยติดเตียงถ่ายบนเตียง ควรล้างทวารโดยการใช้หม้อนอน (Bed pan) หรือรองไว้ด้วยแผ่นซับรองก้น เพื่อไม่ให้ซึมลงเตียงนอนค่ะ 
  3. ล้างชำระด้วยน้ำและสบู่ โดยผู้ดูแลใส่ถุงมืออนามัย ใช้สำลีทำความสะอาดชุบน้ำสบู่หมาดๆ
  4. เช็ดทำความสะอาดให้ทั่วบริเวณทวาร โดยเน้นย้ำให้เช้ดจากด้านหน้าไปด้านหลังผู้ป่วยค่ะ (จากอวัยวะเพศไปทางรูทวารหนัก) เพื่อป้องกันการย้อนกลับมาติดเชื้อจากอุจจาระที่อยู่ด้านหลังเข้าสู่ทางเดินปัสสาวะด้านหน้าของผู้ป่วย
  5. นำสำลีที่ใช้แล้วทิ้งใส่ถุงขยะ เช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังสัก 2-3 รอบให้สะอาด แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดที่เตรียมไว้
  6. ซับด้วยผ้าแห้งสะอาดอีกครั้ง เพื่อป้องกันการอับชื้น อันนำมาสู่การเกิดแผลกดทับ
  7. ผู้ดูแลนำสิ่งปฏิกูลในหม้อนอนไปทิ้งลงชักโครกในห้องน้ำตามปกติ ล้างทำความสะอาดหม้อนอนแล้วผึ่งแห้งไว้ ที่ผนังห้องน้ำ ล้างมือให้สะอาดหลังทำความสะอาดผู้ป่วย

เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำความสะอาด การดูแลการขับถ่ายผู้ป่วยติดเตียงแล้วค่ะ

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

  • อาจเลือกใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่หรือใช้แผ่นรองซับเสริมสำหรับปูเตียงในผู้ป่วยติดเตียง ทำการปรับระดับการใส่ผ้าอ้อมให้กระชับ เพื่อความสบายตัว ไม่รั่วซึม
  • ควรหมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมทุก 4 ชั่วโมง หรือทุกครั้งที่ขับถ่าย ทำความสะอาดผิวหนังพร้อมซับผิวให้แห้ง เพื่อป้องกันการเกิดแผลบริเวณผิวหนัง 
  • ไม่โรยแป้งฝุ่นเพื่อป้องกันการสะสมเชื้อโรคในบริเวณที่อับชื้นและจุดซ่อนเร้น 
  • หากมีผื่นหรือแผล ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป เพื่อสุขอนามัยและสุขภาพจิตใจที่ดี
  • โดยสรุปการทำความสะอาดผู้ป่วยติดเตียงหลังจากการขับถ่ายอุจจาระ-ปัสสาวะนั้นควรทำทันที ไม่ควรปล่อยไว้ตามรอบการทำความสะอาด หรือรอบการพลิกตัว การละเลยการทำความสะอาดทันทีนั้น จะนำมาซึ่งปัญหาการติดเชื้อและการเกิดแผลกดทับ วุ่นวายอาจถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล 
  • การทาวาสลีนบริเวณผิวหนังที่คาดว่าเป็นจุดสัมผัสปัสสาวะ-อุจจาระด้วย เพื่อป้องกันการระคายเคือง และช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดแผลกดทับ อีกทั้งยังลดการเกิดภาวะเปียกชื้นที่ผิวหนังด้วย เพราะความชื้นทำให้ผิวหนังเกิดการเปื่อยยุ่ย ถลอก และไม่ควรให้ผิวแห้งจนเกินไป เพราะผิวที่แห้งกร้านจะเกิดการแตกและความแข็งแรงลดลงทำให้เกิดแผลกดทับได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

การทำความสะอาดผิวหนังที่ดี จะช่วยป้องกันการระคายเคืองของผิวหนัง ป้องกันการเกิดผื่น  การติดเชื้อและแผลกดทับได้ จึงเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ผู้ดูแลทุกท่านควรใส่ใจค่ะ

อ่านเพิ่มเติม

 

บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท