ปวดเฉียบพลัน เลือกประคบเย็นหรือร้อนดี?
อาการปวดเฉียบพลัน เป็นอาการที่บ่งบอกถึงการอักเสบของเนื้อเยื่อหรือข้อต่อ การประคบเย็นหรือร้อน จะมีวิธีเลือกที่ต่างกันตามสาเหตุและระยะของการปวด
การประคบเย็น
จะช่วยให้หลอดเลือดหดตัว ทำให้เลือดและน้ำเหลืองแทรกออกจากหลอดเลือดน้อยลง ทำให้บริเวณที่บาดเจ็บนั้นเริ่มยุบบวม
เมื่อใดจะควรประคบเย็น
- ช่วงเจ็บหรือปวดเฉียบพลัน ภายใน 24-48 ชั่วโมงแรกหลังได้รับบาดเจ็บหรือเริ่มมีอาการปวด
- มีอาการปวด บวม แดง ร้อน บ่งบอกว่ามีการอักเสบมากอยู่
ข้อควรระวัง
- ไม่ควรประคบน้ำแข็งกับผิวหนังโดยตรง ควรนำน้ำแข็งหรือcold packห่อด้วยผ้าขนหนูบางไว้ก่อนแล้วจึงวางลงบนบริเวณที่ปวด
- ไม่ควรประคบความเย็นนานเกินครั้งละ 20 นาที เนื่องจากอาจทำให้ผิวหนังไหม้จากความเย็นได้ ลักษณะคล้ายหิมะกัด หรือที่เรียกว่า Frostbite นั่นเองค่ะ
- หากผู้ป่วยมีปัญหาในการรับความรู้สึก เช่น มีอาการชาอยู่เดิมในตำแหน่งนั้น ควรให้ผู้ดูแลเช็คความเย็นของน้ำแข็งห่อผ้าหรือ cold pack ที่จะนำมาประคบก่อนว่าเย็นเกินไปหรือไม่ และควรให้ผู้ดูแลเช็คความเย็นเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันผิวหนังไหม้จากความเย็นค่ะ
การประคบร้อน
จะช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ให้มาหล่อเลี้ยงบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บมากขึ้น นำสารอาหารผ่านมาทางหลอดเลือดมาเลี้ยงและซ่อมแซมเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าว รวมถึงจะช่วยบรรเทาอาการปวดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อรอบบริเวณนั้นอีกด้วย
เมื่อใดจะควรประคบร้อน
- หลังช่วงที่ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 48-72 ชั่วโมงเป็นต้นไป
- อาการปวดหรืออักเสบเรื้อรัง
- อาการปวดข้อ ข้ออับเสบเรื้อรัง
ข้อควรระวัง
- ผู้ดูแลควรเช็คอุณภูมิให้พออุ่น เพื่อผ่อนคลาย ไม่ร้อนมากเกินไป
- ไม่ควรประคบร้อนนานเกินครั้งละ 20-30 นาที และไม่ควรถี่เกินกว่า 1-2 ครั้งต่อวันเนื่องจากอาจกระตุ้นความอักเสบเพิ่มได้
- ห้ามประคบร้อนในบริเวณที่มีบาดแผลเปิดหรือเลือดออกอยู่ เนื่องจากจะทำให้หลอดเลือดขยายตัวและมีเลือดออกมากขึ้น
กล่าวโดยสรุป
โดยทั่วไปแล้ว การประคบเย็นจะช่วยลดการอักเสบและลดความบวม ในขณะที่การประคบร้อนจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ดังนั้น ถ้าคุณปวดเฉียบพลันจากการบาดเจ็บหรือการกระทบกระเทือน ควรประคบเย็นในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรก เพื่อลดการอักเสบและป้องกันการบวม หลังจากนั้นเมื่ออาการปวดดีขึ้นแล้ว ก็สามารถประคบร้อนได้ เพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและกระตุ้นการฟื้นฟูค่ะ
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท