ทรงตัวไม่ดี ล้มง่าย ปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

ผู้ป่วยรายหนึ่งๆที่มาปรึกษาหมอว่าหลังเป็นสโตรคแล้วอ่อนแรงดีขึ้น แต่ยังเดินไม่ดี ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ต้องรักษาอย่างไรเพิ่มเติม

ทรงตัวไม่ดี ล้มง่าย ปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

อันดับแรกหมอต้องแจ้งก่อนว่าปัญหาของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ไม่ได้มีแค่เพียงอาการอ่อนแรง ซึ่งเป็นปัญหาที่ตรวจพบได้ง่าย เห็นชัดเจน แต่ยังมีปัญหาความไม่ถนัด ไม่คล่องแคล่ว หรือการทรงตัวที่ไม่ดี บาลานซ์ยาก ที่มาเป็นส่วนประกอบของการเคลื่อนไหวที่สมบูรณ์ปกติด้วย

อาการเหล่านี้ต้องได้รับการรักษาแก้ไขแต่เนิ่น อย่าปล่อยรอช้า เพราะยิ่งช้ายิ่งแก้ยากค่ะ วันนี้หมอจะมาอธืบายถึงปัญหาเรื่องการทรงตัวของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือสโตรคให้ท่านผู้อ่านลองคิดตามกันค่ะ

อาการเซ ทรงตัวไม่ดี ในผู้ป่วยสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ มักเกิดจากความผิดปกติของสมองน้อย ที่เรียกว่า ส่วนซีรีเบลลัม (cerebellum) เป็นสมองส่วนที่มีหน้าที่ "ประสานงานการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและข้อต่อให้ทำงานได้สัมพันธ์กัน"  

ความผิดปกติทางระบบประสาทส่วนซีรีเบลลัม

ความผิดปกติทางระบบประสาทส่วนซีรีเบลลัม

ความผิดปกติทางระบบประสาทส่วนซีรีเบลลัมมีผลต่อการส่งสัญญาณประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวไปยังกล้ามเนื้อ ทำให้การควบคุมการทำงานประสานการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้ไม่ดี ไม่สามารถกะระยะการออกแรงแขนขาได้ตรงตามเป้าหมาย เช่น จะหยิบของที่อยู่ระยะ 10 เซนติเมตรด้านหน้า แต่แขนกลับแกว่งสะบัด ไม่สามารถยื่นแขนและมือออกไปหยิบได้ตรงเป้า กลับคว้ามือเลยออกไปเกินกว่า 10 เซนติเมตรดังที่ตั้งใจไว้ เป็นต้น 

ความผิดปกติทางระบบประสาทที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้บ่อย เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เนื้องอก (Brain tumor) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) การได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ (Traumatic brain injury)

หลายครั้งที่การทรงตัวไม่ดีในผู้ป่วยสโตรกถูกละเลย เนื่องจากเป็นปัญหาที่ไม่เห็นด้วยตาแต่รบกวนเหลือเกิน สำหรับใครที่กำลังมีปัญหาอาการเซ ทรงตัวไม่ดี สามารถอ่านเทคนิกการกายภาพเพื่อบรรเทาอาการได้ที่ >> คำแนะนำ การกายภาพฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยที่ทรงตัวไม่ดี หรือมีอาการเซ

โดยสรุป...

ผู้ป่วยที่มีอาการเซ ทรงตัวไม่ดี จำเป็นต้องได้รับการตรวจและรักษาทางกายภาพบำบัด ร่วมกับการรักษาทางการแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ป้องกันการล้ม และเพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยมั่นใจในการเคลื่อนไหว และสามารถช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด 

 

บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท