พร้อมแล้วเดิน! 2 วิธีทดสอบความพร้อมในการเริ่มฝึกเดิน

การเริ่มต้นฝึกเดินเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายภาพของผู้ป่วยหลังจากเจ็บป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือได้รับการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับกระดูก เช่น ผ่าตัดเข่า สะโพก หลังเป็นต้น

การฝึกเดินจำเป็นต้องเริ่มจากการฝึกทรงตัวในท่านั่ง ฝึกลุกขึ้นยืน และฝึกทรงตัวในท่ายืน ให้สามารถทำได้ดีก่อน โดยเริ่มการฝึกเป็นไปตามลำดับความง่ายไปถึงระดับที่ยากขึ้น โดยฝึกให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้ป่วยในขณะนั้น

2 วิธีทดสอบความพร้อมในการเริ่มฝึกเดิน

ความผิดปกติในการเดินที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่

  • การก้าวขาที่ไม่มั่นคง
  • เดินไปแล้วเซ รู้สึกไม่มั่นคง
  • ขาดความสมมาตรขณะเดิน
  • การลงน้ำหนักที่ขาข้างอ่อนแรงได้น้อยกว่าขาข้างปกติ 
  • ความเร็วการเดินลดลง การก้าวขาสองข้างไม่เท่ากัน
  • การเหวี่ยงขาไปด้านข้างขณะเดิน เป็นต้น

      อาการที่กล่าวมาล้วนเป็นความเสี่ยงต่อการหกล้ม ในผู้สูงวัยได้

      ทั้งนี้ เพราะการฝึกเดินไม่ได้เริ่มต้นเฉพาะที่การเดิน แต่ยังรวมถึงการฝึกความสามารถพื้นฐานต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเดินร่วมด้วย 

      หมอแนะนำให้ผู้ป่วยทุกท่านที่ฝึกเดิน เริ่มต้นจากการฝึกพื้นฐานให้มั่นคงก่อน ได้แก่

      • การเพิ่มความแข็งแรง
      • การฝึกการออกแรงที่สัมพันธ์กันของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ
      • การฝึกทรงตัวให้มั่นคง
      • การกระตุ้นการรับรู้ด้วยการเคลื่อนไหวของข้อต่อต่างๆ
      • การลงน้ำหนักขาข้างอ่อนแรง (ซึ่งมักทำได้ยากสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนแรงเฉียบพลันเริ่มต้น)

        การฝึกเหล่านี้จะช่วยปูพื้นฐานให้ผู้ป่วยมีความพร้อมในการเดินได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ไม่ล้มบาดเจ็บ ไม่ฝึกการเดินท่าใหม่ที่ผิดรูปแบบ อีกทั้งหากทีพื้นฐานทั้งหมดที่กล่าวมาดีแล้วนั้น จะช่วยให้การฝึกเดินของผู้ป่วยมีประสิทธิภาพ และฝึกได้เร็วขึ้นอีกด้วย

        เทคนิคทดสอบ 2 วิธีง่ายๆ ที่ผู้ป่วยและญาติสามารถประเมินด้วยตนเองที่บ้านได้ เพื่อที่จะรู้ว่าเราพร้อม ที่จะเริ่มฝึกเดินแล้วหรือยัง ?

        2 วิธีทดสอบความพร้อมในการเริ่มฝึกเดิน

        คำอธิบาย

        1. สามารถยืนเองได้ ไม่ต้องมีการพยุง เป็นเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 นาที
        2. สามารถรับน้ำหนักของร่างกายบนขาที่อ่อนแรงได้ ควบคุมกล้ามเนื้อลำตัวและสะโพก ได้ตั้งตรง ไม่เอียงไปมา รวมถึงควบคุมข้อเข่าให้เหยียดตรง ไม่พับ หรือแอ่นเข่าเวลาก้าวเดินเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้

        หากสามารถเริ่มเดินได้แล้ว แต่ยังรู้สึกว่าการเดินยังไม่ปกติ ผู้ป่วยและญาติควรกลับมาสังเกตการเดินว่าผิดปกติในช่วงไหนของการเดิน การลุก การออกเดิน การก้าวขา การลงน้ำหนักบนขาที่อ่อนแรง เป็นต้น

        การตรวจสอบความสามารถพื้นฐานที่ได้กล่าวไปนี้ก่อน ว่ายังมีข้อบกพร่องใดหลงเหลืออยู่ และต้องการฝึกเพิ่มเติม ก็จะสามารถฝึกเดินด้วยเทคนิคที่ถูกต้อง ปลอดภัย และพัฒนาได้เร็วขึ้น

         

        บทความโดย

        หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท