ทำกายภาพที่ไหนดี โรงพยาบาล vs. ศูนย์ดูแล vs. บ้าน
การฟื้นฟูสมรรถภาพ หลังเจ็บป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ที่บ้าน ที่โรงพยาบาล หรือที่ศูนย์ดูแลผู้ป่วย มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองฟื้นตัวและกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้งโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยและญาติหลายท่านยังมีข้อสงสัยว่า ตัวเลือกแต่ละแบบ มีความแตกต่างกันอย่างไร ข้อดีข้อเสีย มีอะไรบ้าง หมอจึงขอรวบรวมข้อเปรียบเทียบกันมาให้ลองพิจารณาดูกันค่ะ
จากการศึกษาเปรียบเทียบ การทำกายภาพที่ที่โรงพยาบาล ที่ศูนย์ดูแล และที่บ้าน มีความแตกต่างที่สำคัญ คือ
- สถานที่ และความสะดวกในการเดินทาง
- ระยะเวลาในการทำกายภาพแต่ละครั้ง
- ความเข้มข้นของการรักษา
- การรักษาโดยทีม สหสาขา
1. สถานที่ และความสะดวกในการเดินทาง
การทำกายภาพในโรงพยาบาล โดยทั่วไประหว่างที่นอนโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน ทางหอผู้ป่วยมักจะมีโปรแกรมการกายภาพให้ในโรงพยาบาลอยู่แล้ว ทั้งที่ข้างเตียงหรือภายในอาคารนั้นๆ ไม่ต้องเดินทางไกล
แต่เมื่อผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลที่รักษาในช่วงต้นแล้ว ต้องกลับไปพักฟื้นที่บ้าน การทำกายภาพต่อเนื่องซึ่งนับว่ามีความสำคัญมากในการเร่งการกลับมาเป็นปกติของผู้ป่วย สามารถทำได้หลายที่ ทั้งคลินิกผู้ป่วยนอก ศูนย์ฟื้นฟู และแม้แต่ในบ้านของผู้ป่วยเอง
การทำกายภาพที่คลินิกผู้ป่วยนอก นั้นจะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูในการให้การรักษา จะมีความต่อเนื่องจากโปรแกรมที่รักษาภายในโรงพยาบาล แต่มีข้อเสียหลายอย่างคือ การเดินทางไปกลับ คิวผู้ป่วย รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ นักกายภาพที่มีจำกัดของแต่ละโรงพยาบาลเองนั้น ทำให้การกายภาพแบบไปกลับที่คลินิกผู้ป่วยนอก ของผู้ป่วยในประเทศไทยนั้น ไม่ค่อยนิยม ไม่ค่อยถูกนำมาใช้จริงในทางปฏิบัติ บางครั้งผู้ป่วยนั่งรถไปตั้งไกล ไปถึงโรงพยาบาล มีนักกายภาพให้การรักษาบริการคนเดียว รักษาหลายๆคนพร้อมกัน ผู้ป่วย 4 คนรักษาเสร็จภายใน 1 ชั่วโมง ตกเฉลี่ยทำกายภาพเพียง 15 นาที การฟื้นฟูที่ดีที่สุดเพื่อช่วงเพิ่มความสามารถของผู้ป่วยให้กลับมาเป็นปกติย่อมทำได้ยาก
การทำกายภาพที่ศูนย์ฟื้นฟู ที่เน้นเรื่องการกายภาพ
สามารถให้แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูประจำศูนย์ แนะนำการรักษาต่อเนื่องจากโปรแกรมที่รักษาภายในโรงพยาบาลได้ ข้อเสียที่มักพบคือ ค่าใช้จ่ายราคาสูง เนื่องจากต้องรวมค่ากินอยู่ในศูนย์นั้นเพิ่มเติมไปด้วย
ในขณะที่การทำกายภาพที่บ้านของผู้ป่วย หากเป็นการกายภาพที่จัดทำโดยคลินิกที่ได้มาตรฐาน
ก็จะสามารถทำการฟื้นฟูที่ได้มาตรฐานดั่งคุณภาพที่ทำในโรงพยาบาลได้
2. ระยะเวลาในการทำกายภาพ
การฟื้นฟูสมรรถภาพในโรงพยาบาลมักจัดให้ในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น ความถี่ เพียงไม่กี่ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งอย่างที่ทุกท่านทราบดี ว่าการรักษาที่ดีที่สุด สำหรับผู้ป่วยโรงหลอดเลือดสมอง หรือสโตรกนั้น ยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งขยันฝึกเยอะ (อย่างเหมาะสม ถูกวิธี) ย่อมให้ผลการรักษาที่ดีกว่า ใน Golden period โดยเฉพาะ 3-6 เดือนแรกหลังเป็นโรค
ดังนั้นการทำกายภาพเพิ่มเติม ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ด้วย การทำกายภาพที่บ้าน หรือ การทำกายภาพที่ศูนย์ฟื้นฟูที่เน้นเรื่องการกายภาพโดยตรง ย่อมเห็นผลลัพธืที่ดีกว่า
อีกทั้งการฟื้นฟูทางกายภาพหลังโรคหลอดเลือดสมองอาจกินเวลาหลายเดือน ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นการอยู่รักษา เพื่อทำกายภาพติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือนในโรงพยาบาลย่อมไม่สามารถทำได้
3. ความเข้มข้นของการรักษา
อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูสมรรถภาพ การทำกายภาพในโรงพยาบาลมักจะเข้มข้นกว่า เน้นที่การดูแลแบบเฉียบพลัน สามารถใช้เครื่องมือเพื่อช่วยการฟื้นฟูต่างๆได้เยอะกว่า การไปทำที่บ้านเอง
โดยจุดนี้ หากมีศูนย์ฟื้นฟูที่เน้นเรื่องการกายภาพ และรักษาได้เข้มข้น มีการบำบัดหลายอย่าง ครบด้าน หลายครั้งต่อวัน ย่อมสามารถให้ประสิทธิภาพที่เทียบเคียงการกายภาพที่โรงพยาบาลได้เช่นกัน
สำหรับการทำกายภาพต่อเนื่องที่บ้านของผู้ป่วย อาจเหมาะในการฟื้นฟูสมรรถภาพหลังโรคหลอดเลือดสมองที่มีความรุนแรงน้อยลง แต่เน้นที่การฟื้นตัวในระยะยาวและการจัดการอาการอย่างต่อเนื่อง ตามลำดับ
4. การรักษาโดยทีมสหสาขา
การฟื้นฟูสมรรถภาพในโรงพยาบาล จะดำเนินโดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด และนักกิจกรรมบำบัด ซึ่งทำงานร่วมกันเพื่อจัดการการดูแลผู้ป่วย การฟื้นฟูสมรรถภาพหลังเจ็บป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองในโรงพยาบาลนี้จึง เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคซับซ้อน มีโรคประจำตัวหลายอย่างที่ต้องการการเฝ้าระวังขณะทำกายภาพ เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ มีโรคประจำตัวด้านหัวใจ ปอด เป็นต้น
โดยรวมแล้วการทำกายภาพ หลังป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งตีบและแตก ไม่ว่าจะทำที่ใด โรงพยาบาล ศูนย์พักฟื้น หรือบ้าน มีความสำคัญมาก
การฟื้นฟูเฉพาะแบบใด ดีที่สุด สำหรับผู้ป่วยรายใด ขึ้นอยู่กับความต้องการ เป้าหมาย ทรัพยากร และกำลังทรัพย์ของแต่ละคน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าทำที่ใด...
- ทำกายภาพ ดีกว่าไม่ทำ
- ทำด้วยวิธีเทคนิคที่เหมาะสม ย่อมเห็นผลลัพท์ดีกว่าทำแบบผิดๆมั่วๆไปเอง
- และสุดท้าย ทำเร็ว ย่อมเห็นผลเร็วกว่าปล่อยทิ้งไว้แล้วค่อยมาทำค่ะ
บทความโดย
หมอมิ้นท์
พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท