เป็นสโตรคแล้วแขน ขา ลีบ รักษาอย่างไร?
ลูกหลานหลายท่านคงเป็นกังวล เมื่อเห็นญาติที่เรารัก เข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยโรคๆหนึ่งที่โรงพยาบาล จนอาการของโรคนั้นดีขึ้นแล้ว แต่เมื่อถึงระยะที่กำลังจะออกจากโรงพยาบาล พบว่ามีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นมา คือ "ภาวะแขนขาลีบหลังออกจากโรงพยาบาล" หรือทางการแพทย์เรียกว่า การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อหลังจากการพักฟื้นในโรงพยาบาล
ภาวะแขนขาลีบหลังออกจากโรงพยาบาล สาเหตุนั้นเกิดได้หลากหลาย ได้แก่
- เกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อลดลงหรือไม่มีการใช้งานเลย (disused atrophy)
- เกิดจากภาวะความเจ็บป่วยจากตัวโรคนั้น ทำให้ผู้ป่วยอยู่ในช่วงที่การเผาผลาญในร่างกายสูงขึ้นมาก (hypermetabolism)
- เกิดจากผู้ป่วยได้รับโภชนาการไม่เพียงพอ (malnutrition)
- เกิดจากอายุที่มากขึ้น (aging)
วันนี้ หมอจะขออธิบายสาเหตุเบื้องต้นก่อน และแทรกรายละเอียดในการรักษาที่ถูกต้องไปในแต่ละจุด สำหรับผู้ป่วยแต่ละรายกันนะคะ
สาเหตุแรก : เกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อลดลงหรือไม่มีการใช้งานเลย (disused atrophy)
มักเกิดในผู้ป่วยที่ผ่านการพักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยหนัก ไม่สามารถลุกเดิน ขยับแขนขาเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยใน ICU ห้องผู้ป่วยวิกฤต หรือ ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใหญ่ ทำให้ระยะเวลาการนอนพักฟื้นหลังผ่าตัดนาน การนอนนานและการที่ไม่ได้เคลื่อนไหวเลยนั้นจะทำให้กล้ามเนื้อไม่ได้ใช้งานเหมือนเดิม ซึ่งอาจก่อให้เกิดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและมวลกระดูกตามมา เมื่อกล้ามเนื้ออ่อนแอ ก็จะสูญเสียฟังก์ชั่นการทำงานตามมาได้
การรักษา : จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่การรักษาผู้ป่วยไม่ว่าจะในโรงพยาบาล หรือหลังออกจากโรงพยาบาล กลับไปพักฟื้นที่บ้านแล้วนั้น จำเป็นต้องมีการทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟู คงสมรรถนะกำลังของมวลกล้ามเนื้อ และการขยับข้อต่อต่างๆ ป้องกันภาวะข้อติดตามมาอีกด้วย
สาเหตุที่สอง : เกิดจากภาวะความเจ็บป่วยจากตัวโรคนั้น ทำให้ผู้ป่วยอยู่ในช่วงที่การเผาผลาญในร่างกายสูงขึ้นมาก (hypermetabolism)
Hypermetabolism เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อมีการเร่งการเผาผลาญในร่างกาย จากภาวะความเจ็บป่วย เปรียบเสมือนนักกีฬาที่วิ่งมาราธอนตลอดเวลา ร่างกายจะเกิดการสลายเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงาน ทำให้เกิดการสูญเสียกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นและส่งผลให้กล้ามเนื้อยิ่งอ่อนแอมากขึ้นตามมา
การรักษา : ในการรักษาโรคนอกจากการรักษาทางการแพทย์ การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา ทานยาให้สม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคได้
สาเหตุที่สาม : เกิดจากผู้ป่วยได้รับโภชนาการไม่เพียงพอ (malnutrition)
ภาวะทุพโภชนาการ หรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายที่เพิ่มขึ้นในช่วงเจ็บป่วยนั้น สามารถเป็นสาเหตุให้เกิดการฝ่อสลายของมวลกล้ามเนื้อ
โภชนาการที่เพียงพอมีความจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตและการซ่อมบำรุง รักษากล้ามเนื้อ ข้อต่อ และกระดูก การขาดสารอาหารสำคัญ เช่น โปรตีน อาจทำให้กล้ามเนื้อเสื่อมสลายและอ่อนแอลงได้
หลายท่านอาจจะคิดว่า ก็ทานอาหารได้ตามปกติ ทำไมถึงจะขาดสารอาหาร หรือจะผอมลงได้ แต่รู้หรือไม่ว่า การได้รับสารอาหารไม่เพียงพอระหว่างเจ็บป่วยนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยตัวผู้ป่วยหรือญาติผู้ดูแลอาจไม่ทันรู้ตัวก็เป็นได้ เช่น นอกจากการบริโภคอาหารไม่เพียงพอ ทานน้อยลง ไม่อยากอาหาร ปัญหาการดูดซึมสารอาหารไม่ดีหรือมีโรคประจำตัวอื่นๆเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ก็อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่น้อยลงไปอีกด้วย
การรักษา : ดังนั้นในภาวะที่ร่างกายเจ็บป่วย การทานอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน และวิตามินที่จำเป็น เช่น เนื้อไก่ ปลา ถั่ว จะช่วยบำรุงรักษา ป้องกันภาวะแขนขาลีบอีกทางหนึ่งค่ะ
สาเหตุที่สี่ : เกิดจากอายุที่มากขึ้น (aging)
ผู้สูงอายุมักมีโอกาสเกิดความผิดปกติในการเคลื่อนไหวและมีโอกาสเกิด disuse atrophy มากกว่าผู้ป่วยในวัยหนุ่มสาว
ผู้ป่วยที่หมอดูแลเป็นประจำ เป็นผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง หรือสโตรกนั้นเอง ผู้ป่วยกลุ่มนี้ประสบภาวะแขนขาลีบหลังออกจากโรงพยาบาลได้บ่อย มาตรวจติดตามหลังออกจากโรงพยาบาลมักดูผอมลงไปผิดตา
ภาวะแขนขาลีบหลังออกจากโรงพยาบาล หลังป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองสามารถเกิดขึ้นได้บ่อย โดยเฉพาะบริเวณข้างที่เกิดสโตรก หรือข้างที่อ่อนแรงนั้นเอง ผู้ป่วยบางรายที่เกิดสโตรก นอกจากจะเสียความสามารถในการขยับแขนขา (motor function) แล้วนั้น ยังอาจเกิดภาวะเพิกเฉยต่อการใช้งาน (neglect) เนื่องจากรอยโรคสมองที่กินบริเวณกว้างได้อีกด้วย
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งตีบหรือแตกที่เกิดสโตรกนั้น ควรได้รับการรักษาที่จำเพาะ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและออกแบบการรักษาที่เหมาะสมต่อสภาวะร่างกาย ความเจ็บป่วยของผู้ป่วยแต่ละบุคคล และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อให้การรักษาที่ดีขึ้น
การรักษาอาการลีบแขนขาหลังป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง กล้ามเนื้ออ่อนแรงนั้นจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและอาการของผู้ป่วย
เป้าหมายของการทำกายภาพในผู้ป่วยที่มาด้วยอาการแขนขาลีบ หลังออกจากโรงพยาบาล
คือเพื่อเสริมสร้างการไหลเวียนของเลือดไปเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อบริเวณส่วนต่างๆในร่างกาย ทั้งตำแหน่งที่อ่อนแรงไปแล้ว และอีกข้างที่ยังแข็งแรงอยู่ เพื่อลดอาการลีบแขนขา เพิ่มประสิทธิภาพในเคลื่อนไหวของแขนขา และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมประจำวันของผู้ป่วยให้กลับมาสู่ภาวะใกล้เคียงปกติได้โดยเร็ว
ภาวะแขนขาลีบหลังออกจากโรงพยาบาล ที่มาด้วยอาการแขนขาลีบ ผอมซูบลงหลังออกจากโรงพยาบาลเป็นภาวะที่พบได้บ่อย จึงอยากสร้างความตระหนักในการดูแลสุขภาพจุดนี้เพิ่มขึ้นให้ผู้ป่วยทุกท่านให้มีสุขภาพที่ดี พร้อมต่อสู้กับตัวโรคกันนะคะ
สำหรับอาการอื่นๆของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง สามารถอ่านต่อได้ที่ >>
ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยจะเป็นอย่างไร?
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท