ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยจะเป็นอย่างไร?
วันนี้หมอจะมาตอบคำถามที่ได้รับมาจากทางบ้าน หลายท่านสงสัยว่า หากป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อาการของผู้ป่วยจะเป็นอย่างไร? มีอาการอะไรบ้างเพื่อจะได้เข้าใจและเตรียมรับมือ และทำไม ทั้งๆที่ผู้ป่วยเตียงข้างๆก็ป่วยเป็นโรคเดียวกัน อาการของผู้ป่วยแต่ละคนถึงแตกต่างกันไป?
เพราะสมองทำงานโดยอาศัยพลังงานจากน้ำตาลกลูโคสและออกซิเจนที่อยู่ในกระแสเลือด ซึ่งสูบฉีดมาจากหัวใจผ่านทางหลอดเลือดสมองที่คอสองข้าง เข้าไปในกระโหลกศีรษะ เมื่อเกิดความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง เช่น เกิดการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดสมองจะมีผลให้สมองขาดออกซิเจนจึงเกิดภาวะสมองขาดเลือดและเนื้อสมองตายตามมาในที่สุด
ในกรณีที่เกิดการแตกของหลอดเลือดสมอง เลือดที่ออกจะกดเบียดเนื้อสมองบริเวณโดยรอบส่งผลให้เกิดอาการทางระบบประสาทขึ้น
สมองแต่ละส่วนมีหน้าที่แตกต่างกัน กล่าวโดยคร่าว เช่น สมองส่วนซ้าย ควบคุมกำลังกล้ามเนื้อการใช้แขนขาข้างขวา ควบคุมการใช้ภาษา เป็นต้น
เมื่อสมองส่วนหนึ่งเกิดการขาดเลือด หรือถูกกดเบียดจากรอยโรคในสมอง ร่างกายซึ่งถูกควบคุมด้วยสมองก็จะเกิดความผิดปกติตามมาตามตำแหน่งที่รอยโรคสมองนั้นๆโดนกระทบ เช่น มีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก อาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดติดขัด ตะกุกตะกัก มีการมองเห็นภาพผิดปกติ มีปัญหาในการใช้คำพูดติดต่อ สื่อสาร เป็นต้น
ทำไม อาการของผู้ป่วยแต่ละคนถึงแตกต่างกันไป ?
อาการแสดง ระดับความรุนแรงของโรค ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (สโตรค) ในแต่ละคนจะแตกต่างกันไปขึ้นกับปัจจัย ดังนี้
- ตำแหน่งรอยโรค เช่น โดยสมองซีกซ้ายหรือขวา สมองตำแหน่งที่เสียหายนั้น มีหน้าที่เดิมในการควบคุมร่างกายอย่างไร เช่น ใช้ในการขยับแขน ขา หรือใช้ด้านภาษาเป็นต้น
- สาเหตุการเกิด เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบที่เกิดจากลิ่มเลือดจากห้องหัวใจปลิวมาอุดหลอดเลือด มักมีอาการแสดงที่เป็นหนัก ความรุนแรงเยอะกว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองขาดเลือดในสมองส่วนลึก (Deep Subcortical area) เป็นต้น
- พยาธิสภาพ เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบ อาจจะมีการฟื้นตัวที่ช้ากว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ อย่างไรก็ตามยังขึ้นกับหลายปัจจัยประกอบกันค่ะ
- ต้นทุนสมองของเดิมว่ามีหลอดเลือดข้างเคียงเดิมเลี้ยงไว้เยอะแค่ไหน หากมีหลอดเลือดข้างเคียงมาก ความรุนแรงของโรคจะน้อยกว่า และการฟื้นตัวจากโรคจะดีกว่านั่นเองค่ะ
ทำให้ผู้ป่วยแต่ละรายเผชิญอาการของโรคที่แตกต่างกัน มีปัญหาที่แตกต่างกัน ความสำเร็จในการฟื้นตัวก็แตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นการเปรียบเทียบภาวะความเจ็บป่วยของผู้ป่วยเองหรือญาติของตน จึงไม่สามารถเทียบเคียงกับของผู้ป่วยรายอื่นได้เหมือนกัน 100%
อาการโรคหลอดเลือดสมองมักเกิดขึ้นฉับพลัน เป็นสัญญาณเตือนให้คนไข้และญาติต้องรีบด่วนไปโรงพยาบาล
หลังผู้ป่วยหรือญาติสังเกตพบความผิดปกติ อาการบ่งชี้ของโรคหลอดเลือดสมองตีบ ให้รีบไปโรงพยาบาลใกล้บ่านให้เร็วที่สุด ขอเน้นย้ำว่าใกล้ที่สุด และ เร็วที่สุด
ห้ามรอสังเกตอาการดูก่อน ขอนอนพักดูก่อน พรุง่นี้เช้าค่อยไป ลูกไม่ว่าง สามียังไม่กลับจากที่ทำงาน การรอเวลานับจากเริ่มมีอาการผิดปกตินั้น เป็นจุดที่น่าเสียดายอย่างมากที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถมาทันเวลา ในการได้รับยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำได้ ซึ่งการไม่ได้รับสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำนั้น ทำให้อัตราการฟื้นตัวจากความพิการด้อยลง กว่าการได้รับยาอยู่มาก จากโอกาสที่อาจจะสามารถกลับมาเป็นคนปกติได้ กลายเป็นต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียง ต้องพึ่งพาลูกหลานในอนาคตตลอดไป
สำหรับวิธีการทำกายภาพบำบัด ที่"เริ่มเร็วและเข้มข้น" ในผู้ป้วยโรคหลอดเลือดสมอง สามารถอ่านต่อได้ที่ >>
ข้อแนะนำ การกายภาพบำบัดหลังการรักษาในระยะเฉียบพลัน
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท