คู่มือจัดการ ภาวะท้องอืดหลังผู้ป่วยได้รับอาหารทางสายยาง

วันนี้หมอจะมาแนะนำปัญหาท้องอืดหรือแน่นท้องหลังได้รับอาหารทางสายยาง ที่พบได้บ่อย ในผู้ป่วยที่รับอาหารทางสายยาง พร้อมอธิบายสาเหตุ และวิธีป้องกัน แก้ไข เพื่อที่ญาติผู้ดูแลจะสามารถนำไปเฝ้าระวังและปรับใช้กับผู้ป่วยได้ค่ะ

ภาวะท้องอืดหลังผู้ป่วยได้รับอาหารทางสายยาง

ภาวะท้องอืดหรือแน่นท้องหลังได้รับอาหารทางสายยางอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ 

สาเหตุที่พบบ่อย

  • ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ทำให้การเคลื่อนที่ของลำไส้แบบคลื่นดังกล่าวทำได้ลดลง
  • ผู้ป่วยได้รับฟีดปริมาณอาหารที่มากเกินไป 
  • ผู้ป่วยได้รับยาระงับปวดในกลุ่ม narcotic drug รวมถึงยาหลายชนิดที่มีผล Anticholinergic ยกตัวอย่างเช่น ยาทรามาดอล ยามอร์ฟีน ยาทางจิตเวช และยานอนหลับบางประเภท เป็นต้น
  • ความไม่สมดุลย์ของเกลือแร่ในร่างกาย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโปแตสเซียมในกระแสเลือดต่ำ (hypokalemia) จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของลําไส้ลดลง ลําไส้ไม่ทํางาน การบีบรูดของลําไส้ลดลง เป็นต้น
  • ผู้ป่วยสูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มักจะมีปัญหาในการย่อยอาหาร เนื่องจากระบบประสาท sympathetic ทำงานได้ลดลง การกระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลําไส้จึงลดลง ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะท้องอืดสูงขึ้น

วิธีการป้องกันและแก้ไข

  • ตรวจสอบปริมาณอาหารว่าเหมาะสมกับผู้ป่วยหรือไม่ หากผู้ป่วยได้รับปริมาณอาหารที่มากเกินไป ควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการในการปรับสูตรอาหารของผู้ป่วยให้เหมาะสมต่อความต้องการพลังงานในแต่ละวันของผู้ป่วย 
  • หากเป็นผู้ป่วยที่ได้รับอาหารทางสายยางในมื้อก่อนหน้ามาก่อน ให้ดูดทดสอบปริมาณของเหลวที่เหลือค้างในกระเพาะอาหาร ถ้าปริมาณของเหลวเหลือค้าง 200 มิลลิลิตร จึงให้อาหารมื้อถัดไปตามปกติได้ โดยมีการเฝ้าระวังและสังเกตอาการผิดปกติอย่างใกล้ชิด
    • หากมีอาการปวดท้อง ท้องอืดมาก คลื่นไส้ อาเจียน ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล เพื่อสืบค้นสาเหตุของปัญหาดังกล่าว
    • โดยของเหลวที่เหลือค้างในกระเพาะอาหารที่ดูดออกมาควรใส่กลับคืนทั้งหมด (ปริมาณไม่ควรเกิน 200-300 มิลลิลิตร) หากของเหลวเกิน 200-300 มิลลิลิตรต้องหยุดให้อาหารทางสายยางชั่วคราวและปรึกษาแพทย์
  • การออกกำลังกาย ให้ผู้ป่วยได้ขยับเคลื่อนตัวบ่อยๆ ลุกนั่ง ทำกิจกรรมบ่อยๆจะช่วยให้การเคลื่อนตัวของลำไส้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยผู้ดูแลควรแนะนํา อธิบายให้ผู้ป่วยเห็นถึงประโยชน์ของการเคลื่อนไหวและลุกเดินได้เร็วหลังภาวะความเจ็บป่วย (early ambulation) เมื่อสภาพร่างกายพร้อมและเหมาะสม เช่น กระตุ้นให้ทำการพลิกตัว การออกกําลังขา การลุกนั่งด้วยตนเอง เป็นต้น
    • การลุกจากเตียงได้เร็วหลังนอนโรงพยาบาล จะช่วยกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวของลำไส้และช่วยขับแก๊สออกจากทางเดินอาหาร ทำให้ลดภาวะท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้องได้อย่างดี 
  • แก้ไขภาวะท้องผูก ที่ส่งผลให้เกิดภาวะท้องอืด แน่นท้องร่วมด้วย อาจพิจารณาใช้ยาระบาย (stimulant laxative) เช่น Bisacodyl เป็นยาระบายที่ออกฤทธิ์ให้เกิดการเคลื่อนไหวแบบบีบรูด และการหลั่งน้ำย่อยเพิ่มมากขึ้น ช่วยให้มีการขับถ่ายอุจจาระ โดยวิธีการใช้ยาระบายอาจให้โดยการรับประทานหรือใช้เหน็บทางทวารหนักก็ได้ 

การรักษาด้วยยา

การรักษาด้วยยาตามแพทย์แนะนำ ได้แก่ 

  • ยาขับลม เช่น carminative จะออกฤทธิ์กระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนไหวแบบบีบรูดมากขึ้น ช่วยในการขับแก๊สออกมาจากลำไส้ใหญ่ 
    • ยาขับลมในกลุ่ม simethicone เช่น Air-x ช่วยลดอาการอืดแน่นท้องโดย ทำให้ผู้ป่วยเรอขับลมหรือผายลมได้สะดวกขึ้น
  • ยาลดกรด antacid เป็นยาที่มีฤทธิ์เป็นด่างปานกลาง โดยทำปฏิกิริยากับกรดเกลือในกระเพาะอาหาร ช่วยลดปริมาณของกรดที่จะทำปฏิกิริยากับ bicarbonate ที่มีอยู่ในน้ำย่อยทำให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง ช่วยผ่อนคลายอาการแน่นอึดอัดท้อง

ปัญหาการย่อยและการขับถ่าย ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่ผู้ดูแลต้องคอยสังเกตและเฝ้าระวัง เนื่องจากหากประสบปัญหาดังกล่าวแล้วปล่อยไว้เรื้อรังอาจทำให้เกิดอันตราย ท้องอืด ท้องผูกเรื้อรัง เกิดภาวะลำไส้โป่งพอง ลำไส้บิดเกลียว หรือาจนำไปสู่ภาวะติดเชื้อในช่องท้องหรือกระแสเลือดได้ในที่สุด

 

บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท