วิเคราะห์ปัญหากลืนลำบากในผู้ป่วยสโตรก ด้วยตนเอง

ผู้ที่มีภาวะกลืนลำบากจะมีอาการแสดงที่หลากหลายแตกต่างกันไป เช่น กลืนอาหารแล้วรู้สึกว่ามีอาหารติดอยู่ในลำคอ มีสำลักตอนกลืน และไอขณะกลืนอาหาร หรือแม้กระทั่งอมอาหารไว้ในปาก ไม่ยอมกลืนลงไป 

วันนี้หมอจะชวนญาติผู้ดูแลผู้ป่วยที่ประสบปัญหาดังกล่าว มาวิเคราะห์ปัญหากลืนลำบากในผู้ป่วยสโตรก อย่างเป็นขั้นตอนกันค่ะ

วิเคราะห์ปัญหากลืนลำบากในผู้ป่วยสโตรก ด้วยตนเอง

ภาวะกลืนลำบาก สามารถแบ่งปัญหาตามระยะการกลืนได้เป็น 3 ระยะ 

ระยะที่ 1  ระยะในช่องปาก (Oral stage)

ผู้ป่วยมักมาปรึกษาด้วยปัญหา “กลืนหลายครั้ง กลืนซ้ำๆ กว่าข้าวจะลงคอ”

  • โดยเริ่มแรก จะเข้าสู่ระยะการเตรียมอาหารในช่องปาก (Oral preparatory stage) ก่อน 
  • เป็นขั้นตอนที่อาหารถูกเคี้ยวและผสมกับน้ำลายเพื่อสร้างก้อนอาหารเป็นชิ้นเล็กๆ  ปัญหาในขั้นตอนนี้เกิดจาก ปัญหาในการเคี้ยวหรือคลุกเคล้าอาหารในช่องปาก 
  • เมื่อมีปัญหาในขั้นตอนนี้ อาจเกิดจากการสร้างน้ำลายลดลงทำให้ปากแห้ง หรือไม่มีกำลัง ฟันสำหรับบดเคี้ยวอาหารก็ไม่แข็งแรง
  • จากนั้น ลิ้นจะเคลื่อนย้ายก้อนอาหารที่ถูกบดเคี้ยวเล็กน้อยแล้วไปยังด้านหลังของปากและกระตุ้นให้เกิดการกลืนขึ้น 
  • เมื่อมีปัญหาในขั้นตอนนี้จะทำให้การเคลื่อนย้ายอาหารไปยังด้านหลังของปาก รอที่คอหอยยากขึ้น ทำให้เกิดอาการกลืนหลายครั้ง เพื่อให้อาหารถูกดันไปอยู่ในช่องปากส่วนหลังหรือที่คอหอยเพื่อเตรียมเข้าสู่ระยะที่ 2 จนทำให้เกิดการสำลักขึ้นได้
dysphagia phase

ระยะที่ 2  ระยะคอหอย (Pharyngeal stage)

ผู้ป่วยมักมาปรึกษาด้วยปัญหา “สำลักหรือไอขณะที่ทานอาหาร”

  • ปัญหาสัมพันธ์กับอาการ กล่องเสียงปิดช้า หูรูดและหลอดอาหารส่วนต้นเปิดช้า และมีการหดตัวของคอหอยเพื่อส่งอาหารน้อยลง ทำให้อาหารค้างอยู่ที่บริเวณคอหอยเป็นเวลานาน เกิดความเสี่ยงในการสำลักอาหารเข้าระบบทางเดินหายใจ เกิดโรคปอดติดเชื้อจากการสำลักอาหารตามมาได้  
  • เมื่อมีปัญหาในขั้นตอนนี้ อาจส่งผลให้การกลืนลำบาก จากการที่อาหารไม่สามารถเคลื่อนไปถึงลำคอได้ ซึ่งอาจทำเกิดการสำลักหรือไอขณะที่กินอาหาร นั่นเอง

ระยะที่ 3  ระยะหลอดอาหาร (Esophageal stage)

ผู้ป่วยมักมาปรึกษาด้วยปัญหา “รู้สึกว่ากลืนไม่ลง อาหารติดอยู่ที่คอหรือจุกเจ็บอยู่บริเวณอก”

  • เกิดจากการที่หูรูดของหลอดอาหารส่วนต้นเปิดระยะเวลาสั้นลง กล่าวคือ หูรูดหลอดอาหาร ปิดเร็วขึ้นนั่นเอง ทำให้อาหารค้างอยู่ที่คอหอยเป็นเวลานาน มีความเสี่ยงในการสําลักอาหารและเศษอาหารตกเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ จนทำให้เกิดอาการสำลักได้ 
  • เมื่อมีปัญหาในขั้นตอนนี้ อาจส่งผลให้การกลืนลำบาก จากการที่อาหารค้างอยู่ที่คอหอย ส่วนบริเวณคอ หรืออก ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายหรือเจ็บจุกๆในขณะทานอาหารได้

    นอกจาก 3 ระยะการกลืนที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น...

    ปัญหาที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ทานข้าว หรือทานได้ไม่ดี อาจต้องพิจารณาในส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องการระบบทางเดินอาหารอีกด้วย

    • ผู้ป่วยท้องอืด แน่นท้อง ท้องผูกมาหลายวัน ย่อมไม่อยากทานอาหารได้  
    • ปัญหาทางจิตใจเอง ผู้ป่วยมีอาการซึมเศ้ราร่วมด้วยก็ไม่อยากทานอาหาร เบื่ออาหาร ให้ทานขนมที่ชอบก็ไม่อยากทาน 
    • ผู้ป่วยพาร์กินสันมือสั่นเวลาทานอาหาร เวลาร่วมโต๊ะอาหารกับเพื่อนคนอื่น ไม่อยากให้เพื่อนเห็นว่าเวลาจับช้อนแล้วมือสั่น ก็ไม่อยากทานอาหาร 

    จึงเป็นจุดสำคัญที่หมออยากจะเน้นย้ำว่า... การประเมินปัญหาการกลืนว่าเกิดจากส่วนใด เพื่อให้สามารถแก้ปัญหา หรือปรับอาหารได้ถูกต้องนั้น ต้องมองเป็นภาพรวมปัญหาทั้งหมดของผู้ป่วย และหากพิจารณาว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากการกลืนเองนั้นแล้ว ก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องการกลืน ได้แก่ นักกิจกรรมบําบัด ที่ดูเเลเรื่องการกลืน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อร่วมกันออกแบบอาหาร ให้กับผู้ป่วย ด้วยการทํางานอย่างเป็นสหสาขาวิชาชีพค่ะ 

    สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการกลืน อาจลองปรับรูปแบบอาหารให้ทานง่าย ตามหลักการของ IDDSI (International Dysphagia Diet Standardization) เป็นมาตรฐานอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้ที่มีปัญหาภาวะกลืนลำบาก ที่พัฒนาขึ้นป็นเกณฑ์สากล 

    ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความ >> มาทำความรู้จัก "อาหารฝึกกลืน"

     

    บทความโดย

    หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท