มาเรียนรู้วิธีการให้อาหารทางสายยางกันเถอะ
การให้อาหารทางสายยางทางจมูกเป็นการให้อาหารผ่านทางสายยางจากจมูกถึงกระเพาะอาหารโดยสายให้อาหารหรือสายยางให้อาหาร เรียกว่า เอ็นจีทิ้วบ์ (NG tube)
การให้อาหารทางสายยางทางจมูก ให้เมื่อมีปัญหาการให้อาหารทางปากแต่ระบบทางเดินอาหารยังอยู่ในเกณฑ์ดี คือสามารถย่อยและสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้และไม่มีการอุดตันของทางเดินอาหารส่วนปลาย หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกลืน ได้แก่ การที่ปากคอหรือหลอดอาหารได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ช็อก ตับวาย ไตวาย ผู้ป่วยที่ได้รับอาหารทางปากได้ไม่เพียงพอ เช่น เบื่ออาหาร เป็นโรคเรื้อรัง อ่อนเพลียมาก
การให้อาหารทางสายที่ผ่านจมูกสู่กระเพาะอาหาร (Nasogastric tube) เป็นวิธีที่ง่าย ใชสะดวกวิธี แต่ต้องฝึกทำ และเรียนรู้ข้อควรระมัดระวังต่างๆ โดยคาดว่าผู้ป่วยจะสามารถกลับมารับประทานอาหารทางปากตามปกติ โดยการให้อาหารทางสายยางนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารน้ำและอาหารอย่างเพียงพอ
เลือกอ่าน...
- การเตรียมตัวก่อนให้อาหารทางสายยาง
- วิธีการให้อาหารทางสายยาง มีกี่วิธี ?
- ขั้นตอนหลังให้อาหารทางสายยาง
- ข้อควรระวัง ในการให้อาหารทางสายยาง
การเตรียมตัวก่อนให้อาหารทางสายยาง
- ล้างมือให้สะอาด หรือใช้ waterless 20 – 30 วินาทีและสวมถุงมือ
- จัดท่าผู้ป่วย ในผู้ป่วยที่ไม่มีข้อห้ามในเรื่องการจัดท่าศีรษะสูง ดูแลจัดท่าผู้ป่วยนั่งพิงสบายหรือศีรษะสูง 30-45 องศา ในรายที่นั่งไม่ได้อาจจัดท่านอนตะแคงขวาแทน เพื่อลดโอกาสผู้ป่วยขย้อนอาหารออกมา จากการที่กระเพาะอาหารที่อยู่ด้านซ้ายของผู้ป่วยถูกกดทบจากการจัดท่านอนตะแคงทับร่างกายซีกซ้าย
- เปิดจุกปลายสายให้อาหารและเช็ดรอบรูเปิด ด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำต้มสุก
- ตรวจสอบตำแหน่งของปลายสายให้อาหาร โดยต่อหัวกระบอกให้อาหาร (Syringe feeding) เข้ากับรูเปิดของสายให้อาหารโดยสำรวจให้กระชับและแน่น แล้วค่อยๆดูดจะพบมีน้ำย่อยหรืออาหารที่กำลังย่อยหากไม่พบต้องตรวจสอบโดยการฟังเสียงของอากาศ 15-20 มิลลิลิตรที่ใส่ผ่านสายยางให้อาหารเข้าไปในกระเพาะอาหารอย่างรวดเร็ว
- หากเป็นผู้ป่วยที่ได้รับอาหารทางสายยางในมื้อก่อนหน้ามาก่อน ให้ดูดทดสอบปริมาณของเหลวที่เหลือค้างในกระเพาะอาหาร ถ้าปริมาณของเหลวเหลือค้าง 200 มิลลิลิตร จึงให้อาหารมื้อถัดไปตามปกติได้
- เฝ้าระวังและสังเกตอาการผิดปกติอย่างใกล้ชิด หากมีอาการปวดท้อง ท้องอืดมาก คลื่นไส้ อาเจียน ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล เพื่อสืบค้นสาเหตุของปัญหาดังกล่าว โดยของเหลวที่เหลือค้างในกระเพาะอาหารที่ดูดออกมาควรใส่กลับคืนทั้งหมด โดยปริมาณไม่ควรเกิน 200-300 มิลลิลิตร หากของเหลวเกิน 200-300 มิลลิลิตรต้องหยุดให้อาหารทางสายยางชั่วคราวและปรึกษาแพทย์
วิธีการให้อาหารทางสายยาง มีกี่วิธี ?
วิธีการให้อาหารทางสายยางที่นิยมในปัจจุบัน มี 2 วิธี
-
วิธีให้อาหารไหลลงมาเองตามแรงโน้ม (bolus method)
- ต่อกระบอกให้อาหารกับสายยางให้อาหาร(นำกระบอกสูบออก ใช้เฉพาะด้านนอก)
- พับสายอาหารไว้ เทอาหารให้เต็มกระบอก
- ยกกระบอกให้อาหารให้สูงกว่าตำแหน่งให้อาหารประมาณ 30 เซนติเมตร ปล่อยสายให้อาหารที่พับไว้ให้อาหารเหลวไหวผ่านลงตามสาย อาหารจะไหลลงมาเองตามแรงโน้มถ่วง
- เมื่ออาหารใกล้หมด ค่อยๆเติมอาหารโดยลดระดับกระบอกอาหาร หักพับสายให้อาหารระหว่างที่ทำการเติมอาหาร (เพื่อป้องกันอากาศเข้า) แล้วจึงปล่อยสายแล้วยกกระบอกอาหารสูงขึ้นจนครบจำนวนที่กำหนดไว้
- ให้น้ำตามปริมาณ 50-100 มิลลิลิตร (ยกเว้นในรายที่จำกัดปริมาณน้ำดื่ม)
-
วิธีแบบหยด (drip method)
- เทอาหาร ใส่ขวดหรือถุงของชุดให้อาหารทางสายยาง ต่อขวดหรือถุงใหอ้าหารทางสายยางกับชุดอาหาร
- หักพับหรือปิดสายของชุดให้อาหาร แล้วนำขวดหรือถุงให้อาหารแขวนที่ตะขอแขวน
- ปล่อยให้อาหารไหลลง ให้เต็มสายให้อาหารถือค้างไว้
-
ต่อสาย ชุดให้อาหารกับสายอาหารต่อตัวผู้ป่วยและปล่อยให้อาหารไหลผ่านสาย ดังนี้
4.1 กรณีแบบหยดเป็นมือ
ปรับอัตราการไหลให้หมดภายใน 1 – 2 ชั่วโมงหรือตามแผนการรักษา
4.2 กรณีให้แบบต่อเนื่อง
ต่อสายเข้ากับเครื่องดริปอาหารเหลวทางการแพทย์ หรือเครื่องปรับอัตราการไหล แล้วเปิดเครื่อง ปรับและตรวจสอบอัตราการไหลเป็นระยะ - ให้น้ำตามปริมาณ 50-100 มิลลิลิตร (ยกเว้นในรายที่จำกัดปริมาณน้ำดื่ม)
ขั้นตอนหลังให้อาหารทางสายยาง
- ถ้ามียา ให้ยาที่เตรียมไว้แล้วจึงตามด้วยน้ำ
- หนีบสายยางให้อาหารไว้ เช็ดปลายสายด้วยแอลกอฮอล์70% แล้วปิดสายด้วยจุกหรือผ้าก๊อส
- ปล่อยใหผู้ป่วยอยู่ในท่าเดิม หลังให้อาหารอีก 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง
- นำอุปกรณ์ไปทำความสะอาดและเก็บให้เรียบร้อย
- ถอดถุงมือและล้างมือให้สะอาด
ข้อควรระวังในการให้อาหารทางสายยาง
- ทดสอบตำแหน่งของสายว่าอยู่ในกระเพาะอาหารก่อนให้อาหารทุกครั้ง
- ระมัดระวังไม่ให้ลมผ่านเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยทางสายยางให้อาหารหรือผ่านเข้าได้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันภาวะท้องอืดในผู้ป่วย
- การให้อาหารหยดจากขวดมักมีปัญหาเรื่องการแยกชั้นจากน้ำ และอุดตันบริเวณข้อต่อ ผู้ดูแลต้องหมั่นตรวจสอบอัตราการไหลและเขย่าขวดบรรจุเป็นระยะ
- การเปลี่ยนสายให้อาหาร ตามปกติสายให้อาหารที่ใช้กับผู้ป่วยมักจะใช้ได้นานประมาณ 1 เดือนหรือน้อยกว่านั้น >> เมื่อเห็นว่าสายขุ่นสกปรก หรือมีอาหารอุดตันทำให้อาหารไม่สามารถไหลลงไปได้หรือสายให้อาหารรั่ว(สังเกตจากมีน้ำหรือเศษอาหารซึมออกมาในช่วงให้อาหาร/ให้ยา)
- จำเป็นต้องเปลี่ยนสายให้อาหารใหม่เสมอ ไม่ต้องรอจนถึง 1 เดือน
- จัดให้ผู้ป่วยนอนศีรษะสูงระหว่างให้อาหารและภายหลังให้อาหารอย่างน้อย 30 นาทีเพื่อป้องกันการไหลย้อนกลับของอาหารขึ้นมาทางจมูก เสี่ยงต่อการสำลกอาหารและติดเชื้อของปอด
บทความน่าสนใจ
- วิธีการล้างและนำถุงบรรจุอาหารเหลวทางการแพทย์กลับมาใช้ซ้ำ
- รู้ทัน!! อาการผิดปกติที่พบบ่อยในผู้ป่วยรับอาหารทางสายยาง (ฉบับเต็ม)
- เปรียบเทียบการให้อาหารทางสายยาง “ผ่านหน้าท้อง VS. ผ่านทางจมูก”
- ภาวะกลืนลำบาก กลืนยากในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากอะไร?
- เราจะทราบได้อย่างไรว่าปลายสายยางให้อาหาร-อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม?
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท