5 ปัญหาการพูด การสื่อสารที่พบบ่อย ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

การสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญในการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดความหมายและช่วยแสดงออกถึงความรูสึกและความต้องการระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร แต่ถ้าหากวันหนึ่งเราไม่สามารถสื่อสารหรืออธิบายความต้องการนี้ให้กับคนรอบตัวได้ เกิดเป็นภาวะบกพร่องด้านการสื่อความหมาย เช่น การนึกคำศัพท์ของสิ่งของใกล้ตัวไม่ออก หรือการเรียกสิ่งของนั้น ๆ ผิดไปจากเดิม การดำเนินชีวิตประจำวันคงเป็นเรื่องยากในการที่ไม่สามารถสื่อสารออกไปด้วย การพูด หรือการเขียนได้ปกติ

ความผิดปกติทางภาษาที่เป็นผลมาจากความเสียหายต่อสมอง โดยทั่วไปจะอยู่ในซีกซ้าย ซึ่งมีหน้าที่ในการประมวลผลภาษา ส่งผลต่อการสื่อสารที่ผิดปกติ ของภาษา ทั้งการพูด การทำความเข้าใจ การอ่าน และการเขียน ที่แตกต่างกันออกไป โดยขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความรุนแรงของการบาดเจ็บของสมอง 

5 ปัญหาการพูด การสื่อสารที่พบบ่อย ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

ประเภทของภาวะบกพร่องด้านการสื่อความหมาย สามารถแบ่งได้ออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

1. ภาวะบกพร่องด้านการพูด (Broca’s aphasia: Expressive)

  • มักเกิดจากการที่สมองส่วนหน้าซีกซ้ายได้รับความเสียหาย เป็นตำแหน่งเฉพาะที่เรียกว่า บริเวณโบรคา (Broca's area) ส่งผลให้มีปัญหาด้านสื่อสารออกไป ได้แก่ การพูดและเขียน โดยผู้ป่วยจะสามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารแต่ไม่สามารถทำการสื่อสารออกไปได้ ผู้ป่วยจะสามารถสื่อสารได้เพียงประโยคสั้น ๆ หรือเป็นคำสำคัญ ๆ บางครั้งไม่สามารถพูดจนจบประโยคได้  
  • ลักษณะผู้ป่วยมาปรึกษา ที่พบบ่อย ได้แก่ พูดไม่คล่อง พูดตะกุกตะกัก เช่น ผู้ป่วยจะออกเสียงคำว่า การฟื้นฟู เป็น กะ-กะ-กาน-ฟะ-ฟื้น-ฟะ-ฟู เป็นต้น

2. ภาวะบกพร่องด้านความเข้าใจ (Wernicke’s aphasia: Receptive)

  • มักเกิดจากการที่สมองส่วนกลางซีกซ้ายได้รับความเสียหาย ของเนื้อสมองบริเวณ Wernicke ส่งผลให้ผู้ป่วยยังสามารถพูดได้คล่องเหมือนปกติ พูดได้ชัดเจน และสามารถพูดเป็นประโยคยาว ได้ตามปกติ แต่ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องของภาษาประเภทนี้ จะไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่เขียนหรือสิ่งที่พูดได้ ลักษณะจะเหมือนคนที่ตอบไม่ตรงคำถาม หรืออาจพูดประโยคที่ไม่มีความหมาย ทำให้คู่สนทนาไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการจะสื่อสาร 
ประเภทของภาวะบกพร่องด้านภาษา

3. ภาวะบกพร่องทั้งด้านความเข้าใจและการพูด (Global aphasia)

  • มักพบในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือด Middle cerebral artery ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่เลี้ยงสมอง ทั้งส่วนหน้าและส่วนกลาง ของสมองซีกซ้าย ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารออกมาและรับสารเข้าไปได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะ ไม่พูดออกมาเป็นคำ อาจอืออาบ้าง เป็นการตอบสนองตามความรู้สึก แต่ไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ญาติหรือผู้ดูแลอธิบายได้ รวมถึงจะมีปัญหาด้านการอ่านหรือเขียนร่วมด้วยได้ นับเป็นภาวะที่รักษายาก และมักมีอาการอ่อนแรงแขนขาซีกตรงข้ามกับรอยโรคในสมองร่วมด้วย 

4. ภาวะบกพร่องทางการสื่อความ (Conduction aphasia)

  • ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีปัญหาในการพูดตามได้ โดยหากอาการเป็นน้อย มักจะยังสามารถพูดตาม คำ สั้นๆได้ แต่ไม่สามารถพูดตามทระโยคหนึ่งประโยคยาวๆได้ หรือถ้าหากสามารถพูดตามได้แต่อาจจะผิด มีปัญหาในการใช้คำหรือวลีซ้ำ ๆ อย่างถูกต้อง มักพบในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีพยาธิสภาพอยู่ที่บริเวณตำแหน่ง Arcuate fasciculus บริเวณสมองส่วนหน้า 

5. ภาวะบกพร่องด้านการนึกคำพูด (Anomic aphasia)

  • ภาวะนี้เป็นประเภทความผิดปกติด้านการสื่อสารที่รุนแรงน้อยที่สุด ผู้ป่วยจะมีปัญหาแค่ด้านการนึกคำพูด คือ นึกคำพูดไม่ออก อาจใช้เวลานานในการจะพูดคำที่คิดไว้ในใจได้ 1 คำ ผู้ป่วยอาจใช้การพูดโดยอ้อม คือใช้คำพูดอื่นอธิบายแทนคำที่ต้องการจะพูด เช่น ผู้ป่วยอาจพูดว่า “อันที่เอาไว้กดๆ” แทนคำว่า รีโมทโทรทัศน์ เวลาจะบอกให้ญาติเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ให้เป็นต้น มักพบในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีพยาธิสภาพที่ตำแหน่งของ Angular gyrus ซึ่งคาดว่าเป็นบริเวณสมองส่วนหน้า ตำแหน่งเล็กๆ เช่นกัน  

ความผิดปกติทางภาษาที่เป็นผลมาจากความเสียหายของสมองส่วนควบคุมด้านภาษา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

หากญาติผู้ดูแลพบว่าผู้ป่วยมีปัญหาดังกล่าว ได้แก่ ปัญหาในการสื่อสารออกไปด้วย การพูด การเขียน หรือการรับสาร ตีความหมาย หรือความสามารถในการเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูดออกมา ควรรีบแก้ไข

ยิ่งเริ่มฝึกเร็วผลการตอบสนองยิ่งดี ฝึกการพูด ฝึกการใช้ลิ้น และฝึกเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลิ้นและลำคอนั้นมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูทักษะด้านภาษา ให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาสื่อสารและใช้ชีวิตได้ปกติมากที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น การฝึกดังกล่าว ยังสามารถช่วยป้องกันการสำลัก จากความบกพร่องในการควบคุมลิ้นและการกลืนอีกด้วย

 

บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท