คำแนะนำ การกายภาพฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยที่ทรงตัวไม่ดี หรือมีอาการเซ
ผู้ป่วยที่มีอาการเซ ทรงตัวไม่ดี จำเป็นต้องได้รับการตรวจและรักษาทางกายภาพบำบัด ร่วมกับการรักษาทางการแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ป้องกันการล้ม และเพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยมั่นใจในการเคลื่อนไหว และสามารถช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด
คำแนะนำในการกายภาพฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยที่ทรงตัวไม่ดี หรือมีอาการเซ ได้แก่
-
การออกกำลังกายเพื่อฝึกกล้ามเนื้อให้ทำงานประสานสัมพันธ์กันได้ดีขึ้น (Coordination exercise)
เป็นการฝึกฝนกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งและประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกาย เนื่องจากการทำงานประสานงานของกล้ามเนื้อเป็นสิ่งสำคัญในการทำกิจกรรมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่ง หรือกิจกรรมพื้นฐานในชีวิตประจำวัน หรือการทำงานที่ต้องใช้ความแม่นยำ เช่นการเล่นกีฬา การเต้นรำ และการทำงานด้านความชำนาญ
-
การฝึกกลุ่มกล้ามเนื้อแบบยืดเหยียดออก (Eccentric control)
เป็นวิธีการฝึกฝนที่มุ่งเน้นการควบคุมการประสานการทำงานของกล้ามเนื้อทั้งร่างกาย โดยการยืดกล้ามเนื้ออย่างช้าๆ จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งและควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้ดียิ่งขึ้น ในการฝึกกล้ามเนื้อแบบนี้ ผู้ฝึกจะต้องควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้ออย่างแม่นยำ และควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายส่วนอื่นให้สมดุล เพื่อให้ผลลัพธ์การฝึกฝนมีประสิทธิภาพมากที่สุด
-
การฝึกเพื่อเพิ่มความมั่นคงของกล้ามเนื้อและข้อต่อ (Stability exercise)
เป็นการฝึกเพื่อให้เกิดความมั่นคงของร่างกายขณะที่มีการเคลื่อนไหว ยกตัวอย่างเช่น การฝึกความมั่นคงของกล้ามเนื้อสะโพก โดยให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย ชันเข่าทั้งสองข้าง จากนั้นให้ยกสะโพกขึ้น นักกายภาพบำบัดจะทำการเพิ่มแรงต้านในทิศทางต่าง ๆ โดยให้ผู้ป่วยเกร็งค้างไว้ให้นิ่ง ไม่ให้เอียงไปในทิศทางต่าง ๆ การฝึกประเภทนี้จะทำให้กล้ามเนื้อส่วนหน้าและหลังของต้นขาส่วนสะโพกหดตัวพร้อมกัน อันจะช่วยเพิ่มความมั่นคงของกล้ามเนื้อและข้อต่อได้
-
การออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Strengthening exercise)
-
การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อแขนและขา (Stretching exercise)
-
การออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว (Core stabilize muscles)
-
การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความทนทานของการไหลเวียนระบบหัวใจและปอด (Endurance exercise)
เป็นฝึกกิจกรรมที่อาศัยความต่อเนื่องเป็นเวลานาน และค่อยๆ เพิ่มความหนักขึ้นทีละน้อย เช่น การวิ่งช้าๆ แต่วิ่งในระยะทางไกล หรือการปั่นจักรยานทางไกล เป็นต้น การฝึกประเภทนี้จะเพิ่มความสามารถในความทนทานต่อการฝึกทำกิจกรรมอื่นๆได้นานมากขึ้น
-
การกระตุ้นการรับรู้ด้านการสัมผัส (Sensory stimulation)
เป็นการฝึกเพื่อกระตุ้นการส่งข้อมูลกลับแบบตอบสนองของระบบประสาทการรับความรู้สึกทางกาย (Somatosensory feedback)
-
การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความสามารถในการทรงตัว (Balance training)
เป็นการฝึกฝนกล้ามเนื้อและระบบประสาทที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยในการควบคุมการทรงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ต้องการความมั่นคงในชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อผู้ป่วยต้องยืนอยู่บนพื้นผิวที่ไม่มั่นคง เวลาเดินบนพื้นผิวที่ไม่เรียบสนิท บนทางลาด หรือบนพื้นที่เปียกลื่น เป็นต้น
การฝึกความสามารถในการทรงตัว สามารถทำได้โดยการฝึกฝนกล้ามเนื้อที่มีบทบาทในการควบคุมการทรงตัว เช่น กล้ามเนื้อขา กล้ามเนื้อหลัง และกล้ามเนื้อสะโพก เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกายในการทรงตัวให้ตรงบนขาสองข้างที่แข็งแรง
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท