ทำอย่างไรเมื่อเป็นตะคริว?

ตะคริวในช่วงเวลากลางดึก เป็นปัญหาสำคัญที่รบกวนผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหลาย ๆ ท่าน ทำให้ต้องตื่นขึ้นมาเพราะอาการปวดเกร็ง จะกลับไปนอนตอนตะคริวหายแล้วก็นอนไม่หลับ หรืออาจยังมีอาการปวดค้างอยู่เป็นเวลานาน ส่งผลต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ

ทำอย่างไรเมื่อเป็นตะคริว

สาเหตุของตะคริวนั้นมีหลากหลาย แต่มักเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อมีการตึงจากการที่กล้ามเนื้อนั้นๆยืดหรือเหยียดเกินไป ทำให้เกิดการเกาะแน่นของใยกล้ามเนื้อ ซึ่งทำให้เกิดอาการหดเกร็งนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น 

  • การออกกำลังกายที่หนักเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อตึงตัว 
  • อาการขาดน้ำและแร่ธาตุ เช่นธาตุโพแทสเซียมและแมกนีเซียม ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ 
  • การรับประทานอาหารที่ขาดแคลเซียมและโพแทสเซียมก็อาจทำให้เกิดตะคริวได้เช่นกัน 
  • การอยู่ในสภาวะห้องแอร์เย็นเกินไปหรือเหงื่อออกมากเกินไปก็อาจเป็นสาเหตุของการเกิดตะคริวได้บ้าง 
  • นอกจากปัญหาทางร่างกายแล้วนั้น ตะคริวอาจเกิดจากปัญหาทางจิตใจที่เกิดขึ้นจากความเครียดหรือความวิตกกังวลเช่นกัน 
  • วันนี้หมอขอมาแนะนำการดูแลรักษาเบื้องต้น เมื่อคนในบ้าน หรือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเกิดอาการตะคริว เพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้ค่ะ

    ทำอย่างไรเมื่อเป็นตะคริว? 

    1. ให้พักการเคลื่อนไหว หยุดการใช้งานกล้ามเนื้อส่วนนั้นทันที ไม่ควรฝืนใช้งานต่อ เพราะจะทำให้อาการเกิดรุนแรงและระยะเวลานานขึ้น
    2. ให้ทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้อส่วนที่เป็นตะคริวอย่างช้าๆ เช่น ตะคริวที่น่องให้พยายามค่อยๆ ดันปลายเท้ากระดกขึ้นช้าๆ การทำเร็วไปจะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อนั้นหดเกร้งมากขึ้นค่ะ
    3. นวดบริเวณกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวเบา ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว
    4. หากกล้ามเนื้อมีการหดเกร็งมาก อาจใช้น้ำอุ่นประคบเพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดมายังกล้ามเนื้อส่วนนั้นได้
    5. หากยังมีอาการปวดอยู่เเม้อาการตะคริวคลายลงแล้ว สามารถทานยาแก้ปวดที่ท่านเคยใช้ประจำได้ เช่น พาราเซตามอล หรือทายานวดเพื่อบรรเทาอาการ
    ทำอย่างไรเมื่อเป็นตะคริว

    อย่างไรก็ตาม หากพบว่าเป็นตะคริวบ่อยจนทำให้ต้องตื่นกลางดึก ไม่ว่าจะเป็นที่ขา น่อง เท้าหรือนิ้วเท้า และรบกวนการนอนหรือนอนไม่หลับ ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากเมื่อเป็นบ่อยเข้าก็มักทำให้เกิดความรำคาญและรบกวนการนอนหลับ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจในระยะยาวได้

     

    บทความโดย

    หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท