คำถามยอดฮิต! ผู้ป่วยจะสามารถหยิบจับสิ่งของได้หรือไม่ จะกลับมาจับได้เมื่อไร

ผู้ป่วยจะสามารถหยิบจับสิ่งของได้หรือไม่ จะกลับมาจับได้เมื่อไร?

การเตรียมความพร้อมเพื่อการฟื้นฟูการใช้งานมือและแขนเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับผู้ป่วยและญาติผู้ดูแล การเตรียมความพร้อมในการใช้งาน ส่วนของมือและแขนนั้น จะต้องใช้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูทางกายภาพอย่างถูกต้อง อันจะช่วยให้การกลับมาใช้งานเป็นปกติเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ผู้ป่วยจะสามารถหยิบจับสิ่งของได้หรือไม่ จะกลับมาจับได้เมื่อไร

ในขั้นพื้นฐาน  การเข้าใจส่วนประกอบหรือการเคลื่อนไหวในแต่ละงานเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองสามารถฝึกฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีคำถามว่า ผู้ป่วยจะสามารถหยิบจับสิ่งของได้หรือไม่ จะกลับมาจับได้เมื่อไร ?

ชวนมาวิเคราะห์อย่างละเอียดกัน

หากคิดวิเคราะห์ในรายละเอียดลงไปจะพบว่า การจะทำให้เกิด 1 กิจกรรมง่ายๆ เช่น การหยิบจับสิ่งของที่คนทั่วไปทำกันนั้น เกิดจากการเคลื่อนไหวที่ละเอียดหลายส่วนประกอบกัน 

  • ผู้ป่วยต้องสามารถแบหรือเปิดมือออกได้ก่อน 
  • การหยิบจับสิ่งของต้องอาศัยการกระดกข้อมืออย่างน้อย 30 องศา 
  • การกำมือหยิบจะต้องมีการกระดกข้อมือ เพื่อช่วยรักษาความยาวที่เหมาะสมของกล้ามเนื้องอนิ้วมือ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจับ
  • อีกทั้งการควบคุม "การเกร็งของกล้ามเนื้อ" ที่ใช้ประกอบในการงอข้อมือและนิ้วมือไม่ให้เป็นอุปสรรคก่อนการเรียนรู้การหยิบจับสิ่งของ ก็เป็นเรื่องที่ต้องจัดการ

อุปสรรคที่ต้องฟันฝ่า

สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อาจมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้องอข้อมือและนิ้วมือซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการกระดกข้อมือ

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมก่อนการฝึก ลดอาการเกร็ง ลดความเจ็บปวดร่วมไปด้วยเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่จะทำให้ผู้ป่วยมีความสุข ไม่เจ้บทุกข์ขณะทำการรักษา 

ปัจจัยเรื่องอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อนั้น... พบความสัมพันธ์กับความเร็วและความตั้งใจมากเกินไปในการฝึก หลายท่านอ่านคงตกใจว่า ตั้งใจมากๆที่จะฝึก ทำไมกลับกลายเป็นแย่ ก็เพราะว่าถ้าผู้ป่วยขยับเคลื่อนไหวเร็วเกินไป หรือตั้งใจจดจ่อในการเคลื่อนไหวมากเกินไป จะทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง และยิ่งไปรบกวนการเคลื่อนไหวที่เป็นปกติมากขึ้น

ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประกอบของการเคลื่อนไหวเพื่อประกอบเป็นกิจกรรมเป้าหมายหนึ่งนั้น จะทำให้ผู้ป่วยเข้าใจกระวนการฝึกและวิเคราะห์ประเมินตนเองขณะทำการฝึกฟื้นฟูได้

 

บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท