ทำไมผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจึงเป็นตะคริวบ่อย?
ตะคริวเกิดจากการที่เอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้มีการยืดหรือขยับตัวอยู่เป็นเวลานาน เมื่อยังไม่ได้เตรียมกล้ามเนื้อให้พร้อมก่อนใช้งาน โดยเฉพาะเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมาก ๆ เช่น เดินหรือวิ่ง ทำให้มีการหดรั้งและเกร็งตัวได้ง่ายเมื่อเริ่มทำกิจกรรม หรืออาจเกิดจากมีการใช้กล้ามเนื้อมัดนั้นมากจนเกินไป เช่นนักวิ่งกีฬา เตะบอล หรือวิ่งแข่ง เป็นต้น
นอกปัจจัยดังกล่าวแล้ว ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ยังอาจเกิดจากเซลล์ประสาทและเส้นประสาทที่ทำงานในการควบคุมการหดตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ รวมทั้งอาจเกิดจากระบบการไหลเวียนเลือดมายังกล้ามเนื้อนั้นไม่ดีจนทำให้กล้ามเนื้อนั้นขาดเลือดและเกิดตะคริวขึ้นได้ง่าย
หมอรวบรวม ข้อมูลปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดตะคริว สรุปไว้ดังนี้
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น จากการอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ ไม่ได้มีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การนอนไม่ดี การยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน การเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่สม่ำเสมอ เคลื่อนไหวน้อย
- การใช้กล้ามเนื้อด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง เช่น ใช้กล้ามเนื้อที่ไม่เคยใช้มาก่อน มักพบผู้ป่วยที่จู่ๆมีกำลังใจอยากลุกขึ้นมาทำกายภาพ แล้วเริ่มฝึกกายภาพอย่างหนัก โดยไม่เคยวอร์มกล้ามเนื้อส่วนนั้นๆมาก่อน หรือทำการบริหารกล้ามเนื้ออย่างไม่ถูกต้อง หรือใช้กล้ามเนื้อที่รุนแรงหรือมากเกินไปจนเกิดการล้า
- อายุที่มากขึ้น ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อเสื่อมถอยลง มวลกล้ามเนื้อลดลง กล้ามเนื้อจึงเกิดการล้าได้ง่าย
- ภาวะเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะโซเดียมและโพแทสเซียม เช่น ท้องเดิน อาเจียน เสียเหงื่อมาก หรือรับประทานอาหารที่ไม่สมดุล ซึ่งอาจทำให้เป็นตะคริวรุนแรง
- ผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ อาจทำให้เกิดตะคริวบ่อย และมักเกิดกับกล้ามเนื้อหลายส่วนและมักจะเป็นอยู่นาน
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือกาแฟมากเกินไป ทำให้มีการเพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ ร่างกายและเซลล์กล้ามเนื้อจึงขาดน้ำ ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อในการยืดและหดตัว
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดไขมันในเลือด ยาลดความดันโลหิต ยาขยายหลอดลม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการตะคริวอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ควรหาสาเหตุตามอาการและสภาวะของผู้ป่วย เพื่อค้นหาสาเหตุและการรักษาที่เหมาะสมและถูกต้องที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย สำหรับข้อแนะนำในการรักษาเบื้องต้นเมื่อเกิดตะคริวในผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ
ติดตามกันได้ในบทความ >> ทำอย่างไรเมื่อคนในบ้าน หรือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเกิดอาการตะคริว
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท