ใครจำเป็นต้องใส่สายพยุงกันไหล่ตกบ้าง? ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
ก่อนหน้านี้หมอได้ให้คำปรึกษาญาติผู้ป่วยติดเตียงรายหนึ่งว่ามีความจำเป็นต้องใส่สายพยุงกันไหล่ตกหรือไม่ เนื่องจากผู้ป่วยอ่อนแรงแขนข้างดังกล่าวและไม่ได้ใช้งานแขนข้างนั้นเลย
วันนี้หมอจะมาให้คำตอบว่าสายพยุงกันไหล่ตกเหมาะกับใคร ใครควรใช้ หรือไม่จำเป็น พร้อมแนะนำวิธีการใส่สายพยุงในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ถูกต้องเพื่อให้ลองนำไปเลือกใช้กันค่ะ
ถามมา: ไหล่ตกในผู้ป่วยสโตรค เกิดจากอะไร?
ตอบไป : ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อาจมีภาวะไหล่หลวม หลุดออกนอนเบ้ากระดูกได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณข้อไหล่จะอ่อนแรงและลีบลง หลังเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นมานานแล้ว และไม่รับการฟื้นฟู มวลกล้ามเนื้อที่ใช้ในการนึดเกาะ เอ็นรอบข้อจะอ่อนหลวมลง ทำให้หัวกระดูกส่วนไหล่เคลื่อนที่ออกจากตำแหน่งที่ถูกต้องได้
ถามมา : สายพยุงกันไหล่ตกเหมาะกับใคร ใครควรใช้ หรือไม่จำเป็น?
ตอบไป : สายพยุงกันไหล่ตกเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง ตั้งแต่ระดับมากไปจนถึงปานกลาง ไม่ว่าผู้ป่วยจะสามารถขยับได้เองหรือไม่ ควรใส่ในการป้องกันการหลุดของข้อไหล่ออกจากเบ้ากระดูก เพราะนอกจากจะช่วยเรื่องการหลุดผิดรูปแล้ว ยังช่วยลดอาการปวดจากข้อไหล่หลุดโดยตรง (อาการปวดหัวไหล่เป็นอาการแสดงอย่างหนึ่งของผู้ป่วยที่มีไหล่ตกและหัวไหล่หลุดผิดรูปค่ะ) หรือจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้างที่ต้องคอยพยุงกระดูกอยู่นั่นเอง
- ส่วนผู้ป่วยที่อ่อนแรงเพียงเล็กน้อย อาจใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ ขึ้นกับกิจกรรมที่เคลื่อนไหว หากมีการฝึกหนัก มีการบิดหมุน หรือกางเเขน ยกแขนมาก บ่อยครั้ง
หมอแนะนำว่าให้ใส่ในช่วงฝึกไปก่อนเพื่อป้องกัน แม้ความเสี่ยงในการเกิดหัวไหล่ตก ไหล่หลุดผิดรูปจะน้อยกว่ากลุ่มที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงมากกว่าก็ตามค่ะ
คำแนะนำวิธีการใส่สายพยุงในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ถูกต้อง
- สายพยุงกันไหล่ตกที่ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองควรเลือกประเภทที่สามารถปรับขนาดได้ เลือก size ให้เหมาะสม เนื่องจากหากเลือก size ที่หลวมไปไม่กระชับ ก็จะทำให้ประสิทธิภาพในการช่วยพยุงข้อไหล่ลดลง
- ทำการ ปรับขนาดให้เหมาะสม กับขนาดและรูปร่างของผู้ป่วยก่อนสวมใส่
- หลังจากใส่สายพยุงแล้วจะต้อง ปรับจัดท่าให้เหมาะสม อีกครั้ง
- สังเกตจากแขนอยู่ในท่าทางปกติ ไม่งุ้มมาข้างหน้า หรือห่อไหล่มากเกินไป
- สังเกตว่าผู้ป่วยยังสามารถขยับเคลื่อนไหวได้ ไม่เจ็บ
- สายพยุงกันไหล่ตกที่ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองควรเลือกประเภทที่ทำจากวัสดุที่ระบายอากาศได้ดี เนื่องจากผู้ป่วยต้องใส่ตลอดเวลา ยกเว้นเพียงแค่ช่วงนอน ป้องกันการสะสมของเหงื่อ และกลิ่นเหม็นอับ
- ตรวจสอบว่า ไม่มีการกดทับเนื้อตรงส่วนใดของผู้ป่วย และไม่แน่นจนเกินไป เพื่อช่วยให้เกิดการระบายอากาศได้อย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม หมอแนะนำว่าการใส่สายพยุงในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ดูแลควรหมั่นเช็คเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันการผิดรูป หรือรัดแน่นเกินไป ที่ผู้ป่วยอาจจะสื่อสารบอกความเจ็บได้ไม่เหมือนคนปกติ ทำให้สุดท้าย อาจกลายเป็นจะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของข้อต่อเพิ่มเติมได้นะคะ
สำหรับวิธีวัดไซส์ สายพยุงกันไหล่ตก สามารถดูได้ที่ วิธีการวัดสายพยุงข้อไหล่แบบปรับขนาดได้
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท