ขั้นตอนการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน ที่ห้องฉุกเฉิน

ขั้นตอนการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลันที่เกิดจากการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดแบ่งออกเป็น ขั้นตอนที่ 1 การรักษาในระยะเฉียบพลัน ขั้นตอนที่ 2 การป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำด้วยการให้ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด และ ขั้นตอนที่ 3 การทำกายภาพฟื้นฟู

วันนี้หมอจะมาเล่าสเต็ปแรกสุด เกี่ยวกับการรักษาของแพทย์ในภาวะฉุกเฉิน ว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษามาตรฐานอย่างไรบ้าง เพื่อช่วยให้ตัวผู้ป่วยเองเเละญาติผู้เข้าใจเป็นทีละสเต็ปไป  

การรักษาในระยะเฉียบพลัน ได้แก่

  1. การให้ยาสลายลิ่มเลือด (Tissue plasminogen activator, t-PA)
  2. การใช้ขดเลือดสอดเข้าไปในหลอดเลือดแดง ลากเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากสมอง (Mechanical Thrombectomy) 
  3. การให้รับประทานยาแอสไพรินอย่างน้อย 160 mg 
  4. การรับตัวผู้ป่วยไว้ในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน 
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบในระยะเฉียบพลัน

มาเริ่มทำความเข้าใจในแต่ละวิธีกันเลยดีกว่า...

1. การให้ยาสลายลิ่มเลือด (Tissue plasminogen activator, t-PA)

การให้ยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำแก่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ภายในเวลา 4.5 ชั่วโมง หลังเกิดอาการจะเพิ่มโอกาสของการฟื้นตัวจากความพิการให้อาการกลับมาใกล้เคียงปกติได้ถึง 1.5-3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ได้รับยา 

อย่างไรก็ตาม การใช้ยานี้มีความเสี่ยง กล่าวคือผู้ป่วยจะมีโอกาสเกิดเลือดออกในสมองได้ประมาณ 6%

หลังผู้ป่วยหรือญาติสังเกตพบความผิดปกติ อาการบ่งชี้ของโรคหลอดเลือดสมองตีบ ให้รีบไปโรงพยาบาลใกล้บ่านให้เร็วที่สุด ขอเน้นย้ำว่าใกล้ที่สุด และ เร็วที่สุด 

ห้ามรอสังเกตอาการดูก่อน ขอนอนพักดูก่อน พรุง่นี้เช้าค่อยไป ลูกไม่ว่าง สามียังไม่กลับจากที่ทำงาน การรอเวลานับจากเริ่มมีอาการผิดปกตินั้น เป็นจุดที่น่าเสียดายอย่างมากที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถมาทันเวลา ในการได้รับยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำได้ ซึ่งการไม่ได้รับสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำนั้น ทำให้อัตราการฟื้นตัวจากความพิการด้อยลง กว่าการได้รับยาอยู่มาก จากโอกาสที่อาจจะสามารถกลับมาเป็นคนปกติได้ กลายเป็นต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียง ต้องพึ่งพาลูกหลานในอนาคตตลอดไป 

2. การใช้ขดเลือดสอดเข้าไปในหลอดเลือดแดง ลากเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากสมอง (Mechanical Thrombectomy) 

การใช้ขดเลือดสอดเข้าไปในหลอดเลือดแดง ลากเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากสมองเป็นการรักษามาตรฐานขั้นสูงสำหรับโรคหลอดเลือดสมองที่เกิด จากการอุดตันของหลอดเลือดขนาดใหญ่ในสมอง โดยการสอดสายสวนจากขาหนีบเข้าไปในสมองผ่านหลอดเลือดแดง เพื่อนำเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากหลอดเลือดสมองให้เร็วที่สุด 

  • เป็นการรักษาขั้นสูง โดยการตัดสินใจว่าผู้ป่วยสามารถได้รับการรักษานี้หรือไม่นั้นขึ้นกับการประเมิณโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดสมอง
  • การประเมินจะประกอบด้วยหลายปัจจัย เช่น ส่วนเนื้อสมองที่ยังดีอยู่ ที่สามารถทำให้เลือดกลับไปเลี้ยงได้อีกครั้ง เป็นต้น 

โดยผลการรักษาของการใช้ขดเลือดสอดเข้าไปในหลอดเลือดแดง ลากเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากสมองนี้ ได้รับการพิสูจน์และใช้ในทางปฏิบัติมาแล้วนับสิบปี และจากความรู้ที่ได้ตามมา หลังจากงานวิจัยต่างๆ ที่แสดงผลดีของการรักษา ที่เพิ่มไปกว่าการได้รับยาสลายลิ่มเลือดดังข้อ 1 เพียงอย่างเดียว 

  • ลดจำนวนวันการนอนโรงพยาบาล
  • ลดความพิการทุพพลภาพ
  • ถึงขั้นผู้ป่วยบางรายสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ

3. การให้รับประทานยาแอสไพรินอย่างน้อย 160 mg 

การให้รับประทานยาแอสไพรินอย่างน้อย 160 mg ต่อวันภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตันซ้ำและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ขึ้นกับแพทย์ผู้รักษาประเมินช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มยาต้านเกล็ดเลือด เพราะผู้ป่วยบางท่านอาจมีจุดเลือดออกภายในเนื้อสมองที่ตายนั้น ก็จะทำให้การเริ่มยาต้านเกล้ดเลือดนั้นเลื่อนออกไป

4. การรับตัวผู้ป่วยไว้ในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน 

การรับตัวผู้ป่วยไว้ในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันนับเป็นการรักษาที่ช่วยลดอัตราการตายหรือพิการอีกวิธีหนึ่ง โดยในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองตีบนั้นสามารถกลับเป็นซ้ำหรืออาการแย่ลงได้ในช่วงแรก

การรักษาทั้ง 4 อย่างที่ได้กล่าวไปนั้น เป็นแนวทางการรักษามาตรฐาน ที่ผู้ป่วยจะได้รับ อาจมีการปรับเปลี่ยนไปตามภาวะความเจ็บป่วยของผู้ป่วยแต่ละราย การรักษาด้วยวิธีการให้ยาสลายลิ่มเลือดนั้น มีประโยชน์อย่างมาก และเป็นการรักษาที่ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถได้รับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินรพ.ใกล้บ้านได้ทุกรพ. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการให้ยา

ดังนั้น หากมีความเจ็บป่วย สงสัยโรคหลอดเลือดสมอง มีอาการปากตก ยกแขนขาไม่ขึ้น พูดไม่ชัด หรือเซวิงเวียน  4 อาการเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง(ทั้งตีบและแตก) หมอขอแนะนำให้รีบโทร 1669 และรีบพาส่งโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอดูว่าอาการจะดีขึ้นหรือไม่ เพราะเวลาที่ผ่านไปเท่ากับเนื้อสมองที่ตายไป มากขึ้น มากขึ้น และความพิการที่มากขึ้น มากขึ้นตามเช่นกันค่ะ 

มารู้จัก! โรคหลอดเลือดสมองและสัญญาณเตือน

BEFAST- stroke-alert-sign

บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท