ระดับไขมันในเลือดเป็นอย่างไร เสี่ยงหรือไม่กับการเกิดเส้นเลือดสมองตีบ?
คนไข้และญาติหลายท่านมาปรึกษาหมอว่า ระดับไขมันในเลือดเป็นอย่างไร เสี่ยงหรือไม่กับการเกิดเส้นเลือดสมองตีบ?
หลายๆครั้งผู้ป่วยถามหมอว่า ค่าไขมันได้เท่าไร...เท่านี้ดีหรือยัง...?
หมอต้องขอตอบก่อนว่า ระดับไขมันในเลือดนั้นมีหลักๆ สองแบบ แบ่งเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย คือไขมันดี และ ไขมันเลว ขอสรุปไว้สั้นๆดังนี้
การตรวจเลือดเพื่อประเมินระดับไขมัน ได้แก่
- คอเลสเตอรอล (Total Cholesterol) – ยิ่งเยอะ ยิ่งไม่ดี
- เป็นผลรวมของไขมันคอเลสเตอรอลทั้งดีและไม่ดี
- คอลเลสเตอรอลรวมที่สูงกว่า 200 มก./ดล. มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- ไขมันชนิด แอลดีแอล คอเลสเตอรอล (LDL หรือ Low Density Lipoprotein Cholesterol) – ยิ่งเยอะ ยิ่งไม่ดี
- เป็นคอลเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี ทำให้เกิดหลอดเลือดแข็งและหลอดเลือดอุดตัน
- โดยปกติสำหรับบุคคลทั่วไป ไม่ควรเกินกว่า 130 มก./ดล.
- อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยแต่ละกลุ่มความเสี่ยง เช่น เสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบมาแล้ว ระดับที่จะต้องคุมไขมันให้ได้ จะมีค่ามาตรฐานที่กำหนดต่างกันไป
- ไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) – ยิ่งเยอะ ยิ่งไม่ดี
- พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง การควบคุมไม่ให้ระดับไตรกลีเซอร์สูงโดยงดอาหารจำพวกแป้งและของหวาน
- ไขมันชนิด เอชดีแอล คอเลสเตอรอล (HDLหรือ High Density Lipoprotein Cholesterol) – ยิ่งเยอะ ยิ่งดี
- อาจเรียกว่าไขมันดี ไขมัน HDL- Cholesterol
- ค่า HDL นี้จะเพิ่มขึ้นได้จากการออกกำลังกาย
กล่าวโดยสรุปคือ...
เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละราย มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคสมองและหลอดเลือดไม่เท่ากัน มีโรคประจำตัว ที่ทำให้ต้องระวังแตกต่างกันไป จึงควรถามหมอให้ประเมินความเสี่ยง และระดับเลือดมาตรฐานของแต่ละบุคคล เป็นรายๆไป ไม่สามารถใช้เกณฑ์ๆเดียวตัดสินว่า ผลเลือดไขมันนี้ดีพอหรือยังค่ะ
โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร มารู้จัก และเรียนรู้การป้องกันที่มีประสิทธิภาพ >> คลิกอ่าน
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท