โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากอะไร ใครทำให้ฉันเป็น?
ผู้ป่วยหลายท่านสอบถามหมอว่า ที่ตนเองเส้นเลือดสมองตีบ เกิดจากอะไร เป็นกรรมพันธุ์หรือไม่ ทำไมต้องเกิดกับตนเอง วันนี้หมอจะมาไขข้อสงสัย สรุปให้ฟังกันค่ะ
โรคหลอดเลือดสมอง กล่าวโดยทั่วไปสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันกับโรคหลอดเลือดสมองแตก ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในคนที่มีปัจจัยเสี่ยงอันจะได้กล่าวต่อไป ซึ่งโดยทั่วไปโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันพบได้บ่อยกว่าโรคหลอดเลือดสมองแตกประมาณ 4 เท่า
ทำไมหลอดเลือดสมองอุดตันแล้วจึงเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต?
สมองเป็นอวัยวะสำคัญในร่างกาย ที่ควบคุม สั่งการให้เกิดการเคลื่อนไหวของแขนขา เมื่อเกิดการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองจะทำให้สมองบางส่วนขาดเลือดไปเลี้ยง สมองส่วนนั้นจึงไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ คนไข้จึงมีอาการแขนขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง มีอาการปากเบี้ยวหรือชาครึ่งซีก
ทำไมหลอดเลือดสมองจึงแตก?
หลอดเลือดสมองแตกมีอยู่หลักๆ 2 ประเภท คือหลอดเลือดสมองแตกในเนื้อสมอง ซึ่งมักจะเกิดจากการที่หลอดเลือดสมองเปราะ แตกง่าย กับอีกประเภท คือหลอดเลือดสมองแตกที่มีเลือดออกมาในน้ำที่อยู่รอบสมอง ซึ่งมักจะพบในผู้ที่มีหลอดเลือดโป่งพองที่เรียกว่า Aneurysm
ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองที่สามารถป้องกันได้ มีดังนี้
1. ความดันโลหิตสูง
เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 2-4 เท่า ทั้งในเพศชายและเพศหญิง เลือดที่ออกมาจากหัวใจมีแรงดันสูงขึ้นทำให้ผนังหลอดเลือดเสื่อมเร็ว ขาดความยืดหยุ่น และแตกเปราะง่าย
2. โรคเบาหวานหรือภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติ ทำให้หลอดเลือดแข็ง ผนังหลอดเลือดแดงหนาตัวขึ้นและมีการอุดตัน ซึ่งทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ
3. ภาวะอ้วน
เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ซึ่งก็รวมถึงโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานด้วย การควบคุมค่าดัชนีมวลกาย ( Body mass index ,BMI ) ให้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 25 เป็นการช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆได้
4. ไขมันในเลือดสูง
5. การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
6. โรคหัวใจเต้นไม่ตรงจังหวะชนิดหัวใจเต้นพริ้ว
โรคหัวใจเต้นไม่ตรงจังหวะชนิดหัวใจเต้นพริ้ว หรือภาษาอังกฤษ เรียกว่า Atrial Fibrillation พบว่าการมีหัวใจเต้นพริ้วนี้ สามารถทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้มากขึ้นถึง 5 เท่า โดยจะก่อให้เกิดลิ่มเลือดหลุดจากห้องหัวใจปลิวไปตามหลอดเลือดแดง ไปอุดตันยังหลอดเลือดสมอง การตรวจเบื้องต้นโดยการจับชีพจร จะพบว่าชีพจรแต่ละครั้งมีความแรงไม่เท่ากันและมีจังหวะไม่สม่ำเสมอ โดยหากจะให้แน่ชัดต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจพบลักษณะของหัวใจเต้นผิดจังหวะนี้
7. รูปแบบการดำเนินชีวิตส่วนบุคคล
บุคคลที่ดำเนินชีวิตด้วยความเครียด ไม่รู้จักผ่อนคลาย ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงทำให้เจ็บป่วยง่าย กล้ามเนื้อ ข้อต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงหลอดเลือดก็จะเสื่อมเร็วขึ้นด้วย
บทสรุป
ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองบางส่วน ไม่สามารถป้องกันได้ ต้องเกิดขึ้นเป็นสัจธรรม ต้องเป็นไปตามวัย เช่น อายุที่มากขึ้น เพศ โรคพันธุกรรมบางโรคที่สัมพันธ์ต่อการเสื่อมของหลอดเลือด เป็นต้น แต่มีอีกหลายประการมากที่เราสามารถปรับได้ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค และภาระจากความเจ็บป่วยตามมา หมออยากเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านทุกท่านลองปรับ เปลี่ยน ละเลิกปัจจัยเสี่ยงที่สามารถทำได้ เพื่อสุขภาพของตัวท่านเองค่ะ
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท