การดูแลสายสวนปัสสาวะผู้ป่วย
ผู้ป่วยที่กลับบ้านจากโรงพยาบาลในช่วง 5-7 วันแรกนั้น อาจยังต้องคาสายสวนปัสสาวะกลับบ้านไปก่อน การดูแลความสะอาดบริเวณส่วนล่าง การดูแลสายสวนปัสสาวะเป็นเรื่องใหม่สำหรับบุคคลทั่วไป ที่ไม่เคยชิน เสมือนอวัยวะหนึ่งในร่างกาย ต้องหมั่นดูแลให้ถูกต้องเพื่อป้องกันภาวะการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้
หมอจึงขอมาแนะนำเป็นข้อๆ ให้อ่านเข้าใจง่ายเกี่ยวกับการดูแลสายสวนปัสสาวะผู้ป่วย ดังนี้
5 ข้อควรระวังในผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะ
-
ระมัดระวังการดึงรั้งของสายปัสสาวะ อย่าให้ตึงไป และระวังการนอนทับสาย
- ระมัดระวังสายรั้งเเล้วเลื่อนหลุดออกมาเสมอเวลาพลิกตัวหรือตะแคงตัว
- ถุงปัสสาวะต้องแขวนไว้ระดับต่ำกว่าลำตัวนอน เพื่อไม่ให้น้ำปัสสาวะไหลท้นเข้าร่างกายผู้ป่วย อันจะนำมาซึ่งการติดเชื่้อทางเดินปัสสาวะได้
- การเปลี่ยนแพมเพิสทุก 6-8 ชั่วโมง เนื่องจากผู้ป่วยจะคาสายสวนอยุ่แล้ว จึงไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยเท่าปกติ
-
ควรเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะให้กับผู้ป่วยทุก 2-4 สัปดาห์ โดยสังเกตความขุ่นสกปรกของสาย การรั่วเล็ดของปัสสาวะออกมาเยอะผิดปกติในแพมเพิสที่ใส่รอง หรือตามที่แพทย์ประจำตัวผู้ป่วยให้คำแนะนำ
การดูแลความสะอาด การชะล้างที่ถูกต้อง
- ล้างมือด้วยน้ำสบู่อ่อน และใส่ถุงมือยางอนามัยที่เปลี่ยนทิ้งทุกครั้งก่อนเริ่มทำหัตถการ
- เช็ดทำความสะอาดให้ทั่วบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักด้วยสำลีแผ่น ชุบน้ำพอหมาด เช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังเท่านั้น ห้ามเช็ดย้อนทางจากด้านหลังมาด้านหน้า เนื่องจากจะนำเชื้อโรคจากทวารหนักเข้าสู่ช่องทางเดินปัสสาวะได้
- อาจใช้น้ำสบู่อ่อนชำระบริเวณดังกล่าวให้สะอาด
- ล้างน้ำสบู่ออกด้วยน้ำอุ่นสะอาด แล้วอย่าลืมซับด้วยผ้าแห้งอีกครั้งเพื่อป้องกันการอับชื้นและแผลกดทับ
- ตัดเทปปิดแผลความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร
- ใช้เทปปิดแผล แปะยึดสายสวนปัสสาวะ ที่วางตำแหน่งออกไปในแนวทะแยง แปะไว้บนต้นขาของผู้ป่วยข้างหนึ่ง ก่อนใส่แพมเพิสใหม่ทับ
- จัดสายปัสสาวะบนเตียงไม่ให้ดึงรั้งหรือนอนทับ เช็คถุงปัสสาวะที่ห้อยข้างเตียงอีกทีว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม คือไม่สูงเหนือลำตัวผู้ป่วย
- นำสำลีที่ใช้แล้วและถุงมือทิ้งใส่ถุงขยะ
สำหรับ การกำจัดกลิ่นฉี่ กลิ่นไม่พึงประสงค์ในการดูแลผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียง >> อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
สิ่งที่ต้องระมัดระวังของการใส่สายสวนปัสสาวะ - ข้อสังเกตที่ต้องพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล
-
การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ จากการคาสายสวนปัสสาวะ สิ่งที่สังเกตได้จากบ้าน คือ สีน้ำปัสสาวะขุ่น มีกลิ่นเหม็นมาก หรือเปลี่ยนสีไปจากปกติคือสีเหลืองใสเป็นสีอื่น
-
อุบัติเหตุการดึงรั้ง สายสวนปัสสาวะหลุดออกมาอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของท่อทางเดินปัสสาวะผู้ป่วยได้ เนื่องจากปลายสายสวนปัสสาวะที่คาอยู่ในกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วยนั้น จะมีลูกโป่งใส่น้ำขนาดเล็ก 1.5-2 เซนติเมตรคาไว้อยู่ เพื่อทำหน้าที่ ยึดสายไว้ในตัวผู้ป่วย ป้องกันการเลื่อนหลุดออกมาเวลาขยับ
-
ภาวะปัสสาวะไม่ออก ในระยะเวลาที่เกินกว่าภาวะปกติของผู้ป่วยแต่ละราย ควรรีบพาไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการอักเสบของไต/ทางเดิปัสสาวะ/ไตวายเฉียบพลันได้
การเฝ้าระวังเรื่องความสะอาด ทำความสะอาดร่างกายและสิ่งขับถ่ายของผู้ป่วยเป็นประจำเป็นสิ่งจำเป็น การดูแลที่ดี จะลดปัญหาการติดเชื้อ การเกิดแผลกดทับ และการต้องเข้านอนโรงพยาบาลด้วยภาวะแทรกซ้อนอื่นของผู้ป่วยคาสายสวนหรือผู้ป่วยติดเตียงได้ การดูแลในระยะเริ่มต้นอาจฟังดูยุ่งยากไปเล็กน้อย แต่หากเริ่มทำไปเรื่อยๆ ฝึกทำไป ย่อมทำให้ถนัดมากขึ้น และส่งผลดีต่อสุขภาพคนที่เรารักอย่างแน่นอน
อ่านเพิ่มเติม
- เข้าใจปัญหาการขับปัสสาวะของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองไปตามสเต็ป
- 4 สาเหตุ! ทำไมผู้สูงวัยถึงปัสสาวะรดที่นอน?
- การกำจัดกลิ่นฉี่ กลิ่นไม่พึงประสงค์ในการดูแลผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียง
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท