ปวดหัวมากแบบนี้ จะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (สโตรค) หรือไม่ ?

อาการปวดหัวอาจเกิดจากหลายสาเหตุและไม่ใช่ลักษณะเฉพาะโรคหลอดเลือดสมองเท่านั้น อาการปวดหัวสามารถเกิดจากสาเหตุต่างๆ ทั้งที่เป็นภาวะทั่วไป หรือภาวะฉุกเฉินเฉียบพลัน 

อาการปวดหัวที่เป็นภาวะทั่วไป ไม่ฉุกเฉิน เช่น อาการปวดหัวจากความเครียด เมื่อยล้า พักผ่อนน้อย ปวดหัวจากการตึงกล้ามเนื้อในศีรษะ ปวดหัวที่เกิดจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ ปวดหัวแบบไมเกรน ปวดหัวจากภาวะความดันโลหิตสูง หรือาจมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง เป็นต้น 

ปวดหัวมากแบบนี้ จะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (สโตรค) หรือไม่

อาการปวดหัวที่ต้องมาโรงพยาบาลฉุกเฉิน

แต่ในบางกรณี อาการปวดหัวที่รุนแรงและเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน อาจเป็นลักษณะบ่งชี้ของโรคหลอดเลือดสมอง 

อาการปวดหัวเฉียบพลันและรุนแรงร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น อ่อนแรงหรือชาในแขนและขาด้วย มีปัญหาในการพูด การสื่อสาร พูดไม่ออก ฟังไม่เข้าใจ หรือมีสัญญาณอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง

ในกรณีเช่นนี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อการประเมินและการวินิจฉัยเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน ไม่ควรสังเกตอาการเองที่บ้าน เนื่องจากตัวโรคอาจดำเนินไปแย่ลง และส่งผลให้การรักษาที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้นั้นถูกล่าช้าออกไป

ผู้ป่วยควรรีบมาโรงพยาบาลทันที เพื่อทำให้สามารถตรวจสอบสาเหตุของอาการปวดหัวได้และดำเนินการรักษาต่อไปตามความเหมาะสม

สัญญาณอันตรายสู่การเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์ – อัมพาต)

อาการของโรคหลอดเลือดในสมอง ที่ควรรู้จัก และตระหนักว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน ซึ่งอาจจะแสดงอาการออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีอาการหลายอย่างพร้อมกัน โดยสามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้                

  • อาการแขนขาอ่อนแรง หยิบจับสิ่งของไม่ถนัด เดินปลายเท้าสะดุด ฉับพลัน 
  • มีอาการชาครึ่งซีก ฉับพลัน
  • ปากเบี้ยว มุมปากตก หน้าเบี้ยว ฉับพลัน
  • กลืนลำบาก ดื่มน้ำแล้วสำลัก มีน้ำไหลออกจากมุมปากข้างใดข้างหนึ่ง ฉับพลัน
  • พูดลำบาก พูดไม่ออก หรือพูดไม่ชัด ฉับพลัน
  • ฟังไม่เข้าใจ ทำตามคำบอกของญาติผู้ดูแลไม่ได้ ฉับพลัน
  • เวียนศีรษะ งุนงง เสียการทรงตัว เดินเซเหมือนคนเมา ฉับพลัน
  • ตาข้างใดข้างหนึ่งมัว หรือมองไม่เห็น เห็นภาพซ้อน หรือมีอาการคล้ายม่านบังตา ฉับพลัน
  • ปวดศีรษะรุนแรงฉับพลัน ชนิดไม่เคยเป็นมาก่อน

                    ในกรณีนี้ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ ไปโรงพยาบาลทันทีเพื่อรับการประเมินและการดูแลทางการแพทย์ แพทย์จะตรวจสอบอาการของผู้ป่วย และอาจแนะนำให้ทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจ CT scan หรือ MRI scan ส่วนสมอง เพื่อวินิจฉัยและระบุสาเหตุของอาการปวดหัว

                    หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวให้รีบติดต่อหน่วยฉุกเฉินทันที หรือโทร 1669 (หมายเลขฉุกเฉินในประเทศไทย) เพื่อขอคำแนะนำและการช่วยเหลือสำหรับสถานการณ์เหล่านี้

                    การรับการรักษาโดยเร็ว ในกรณีอาการปวดหัวเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะอาจจำเป็นต้องให้ยาเพื่อสลายลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมอง ลดการอุดตัน ลดการอัมพาตตลอดชีวิตได้ 

                    ผู้ป่วยและญาติหลายท่าน เมื่อเจ็บป่วยเฉียบพลัน เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตเฉียบพลันแล้วจึงเพิ่งได้มารู้จัก “โรคหลอดเลือดสมอง” หรือที่เรียกกันว่า “โรคสโตรค”  อ่านบทสรุปสั้นๆเกี่ยวกับ 

                    โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร? 

                    โรคหลอดเลือดสมองมีกี่ประเภท?   

                    อาการเตือน หรือ อาการแสดงของโรคหลอดเลือดสมองเป็นอย่างไร?  

                     

                    บทความโดย

                    หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท