โรคหลอดเลือดสมอง มีกี่แบบ? ต้องแยกไปทำไม?

หลายท่านเวลาแจ้งหมอว่ามีโรคประจำตัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง แต่ไม่ได้แจ้งว่าเป็นแบบตีบหรือแตก... เนื่องจากสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองแต่ละแบบนั้นแตกต่างกัน การรักษา ยาที่ต้องทาน และการป้องกันก็ต่างกัน วันนี้หมอเลยขอมาชี้ความสำคัญของการแยกประเภทโรคหลอดเลือดสมอง แบบหลักๆที่ควรทราบให้ผู้ป่วยและญาติทุกท่านเข้าใจค่ะ 

โรคหลอดเลือดสมอง มีกี่แบบ

โรคหลอดเลือดสมอง แบ่งได้เป็น 2 ประเภท 

1. โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน

หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันทำให้เลือดไม่สามารถไหลผ่านไปเลี้ยงเนื้อสมองได้ตามปกติ ส่งผลให้สมองขาดออกซิเจนและสารอาหารที่จำเป็นและเกิดเนื้อสมองตายได้ ในประเทศไทย ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเป็นส่วนใหญ่ อยู่ที่ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด

โดยหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันนั้น อาจแบ่งประเภท ได้อีกเป็น 5 ประเภทย่อยตามเกณฑ์ของ TOAST classification ได้แก่

1.Large-artery atherosclerosis
2.Cardioembolism
3.Small-vessel occlusion
4.Stroke of other determined etiology
5. Stroke of undetermined etiology

ซึ่งในกลุ่ม Non-cardioembolic stroke นั้น ยาต้านเกล็ดเลือดนับเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาที่ สำ คัญทั้งในระยะเฉียบพลันและการป้องกันการเกิด โรคซ้ำ ในระยะยาว

อย่างไรก็ตามหมอจะขอไม่ลงรายละเอียดในบทความนี้ เนื่องจากอาจจะทำให้สับสนได้

2. โรคหลอดเลือดสมองแตก

หลอดเลือดสมองแตกเกิดจากการโป่งพองหรือแตกของหลอดเลือดในสมอง สาเหตุส่วนใหญ่ที่พบคือ เกิดจากภาวะความดันโลหิตสูง รองลงมาคือหลอดเลือดแดงโป่งพอง เมื่อเกิดหลอดเลือดสมองแตก จะทำให้เลือดออกในสมองและเนื้อสมองตายได้

โรคหลอดเลือดสมอง

ข้อแตกต่างในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบและโรคหลอดเลือดสมองแตก

ข้อแตกต่างสำคัญในการรักษาระหว่างโรคหลอดเลือดสมองตีบและโรคหลอดเลือดสมองแตกนั้นคือ โรคหลอดเลือดสมองแตก ไม่จำเป็นต้องทานยาต้านเกล็ดเลือด หรือ ยาละลายลิ่มเลือดตลอดชีวิต แต่วิธีการรักษาหลักคือจัดการกับต้นตอสาเหตุที่ทำให้เกิดหลอดเลือดสมองแตกครั้งนั้นๆและป้องกันการเกิดซ้ำในครั้งต่อไป ต่างจากโรคหลอดเลือดสมองตีบที่มักจำเป็นต้องได้รับยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือดตลอดชีวิต ตามสาเหตุที่ตรวจค้นเจอนั่นเองค่ะ 

ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันหรือแตก หากเกิดขึ้นก็อาจเกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต ทำให้ป่วยติดเตียง พิการ หรือสามารถเสียชีวิตได้ 

การรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้สามารถระบุอาการแสดงของโรค ในขณะที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้ขึ้น ว่าความผิดปกติแบบไหนที่จะต้องสงสัยโรคหลอดเลือดสมอง และต้องรีบได้รับการรักษาที่เหมาะสม ในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสมองในระยะยาว 

หากใครอยากรู้ว่า ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยจะเป็นอย่างไร? มีเพียงกล้ามเนื้อ แขนขาไม่มีแรงเท่านั้นหรือไม่ อ่านต่อได้ที่นี่ >> คลิก

 

    บทความโดย

    หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท