เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบแล้ว"จะป้องกัน"การเกิดโรคซ้ำอย่างไร

เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองอย่างละเอียดและถูกต้องแล้วนั้น การป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบซ้ำที่เป็นมาตรฐาน ประกอบด้วย 3 วิธีการใหญ่ๆ ได้แก่ 1. การทานยาเพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำ 2. การผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาที่หลอดเลือด 3. การควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค วันนี้หมอจะมาสรุปให้ฟังเพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลจะเข้าใจถึงทางเลือกที่เราเลือกได้ ตนเองสามารถป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค...ในครั้งต่อๆไปของตนเองได้ค่ะ

ยาวไปเลือกอ่าน 

1. การทานยาเพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำ
2. การผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาที่หลอดเลือด
3. การควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค
เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบแล้ว"จะป้องกัน"การเกิดโรคซ้ำอย่างไร

1. การทานยาเพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำ

การป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำด้วยการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด

ยาต้านเกล็ดเลือดและยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดสามารถป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำได้

  • ยาต้านเกล็ดเลือด

เกล็ดเลือดเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งที่อยู่ในกระแสเลือด เมื่อเกล็ดเลือดถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยบางอย่าง จะเกิดการเกาะกันโดยอาศัยสารเคมีในร่างกายเป็นตัวเชื่อม เกิดเป็นลิ่มเลือดซึ่งสามารถอุดตันหลอดเลือดได้ ยาต้านเกล็ดเลือดจะป้องกันไม่ให้เกิดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ยาชนิดที่มีใช้ในประเทศไทยปัจจุบัน ได้แก่ แอสไพริน โคลพิโดเกล ซิลอสทาซอล เป็นต้น ไว้โอกาสหน้า หมอจะมาเล่าลงรายละเอียดของยาแต่ละตัวให้อ่านกันนะคะ

  • ยาละลายลิ่มเลือด

นอกจากการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดแล้ว ลิ่มเลือดยังสามารถเกิดได้จากการกระตุ้นปัจจัยการแข็งตัวของเลือด (coagulation factor) ยานี้มีหน้าที่ยับยั้งการทำงานของปัจจัยการแข็งตัวของเลือด และทำให้เลือดไม่แข็งตัว

ผู้ป่วยและญาติควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องยาเสมอ 

  • ทำความเข้าใจถึงประโยชน์และผลของยาที่ท่านได้รับ เนื่องจากปัจจุบัน มียาตัวเลือกหลากหลายมาก มีข้อแตกต่างที่ได้รับการวิจัยพิสูจน์ในข้อดี ข้อเสียต่างๆกัน การเลือกยาที่เหมาะสมกับตัวผู้ป่วยแต่ละท่าน ทั้งปัจจัยเรื่องโรคประจำตัวอื่นๆที่มีร่วม ยาอื่นๆที่ท่านทานอยู่เดิม เป็นต้น
  • แพทย์เฉพาะทางต้องใช้ข้อมูลหลายอย่างประกอบในการตัดสินใจ จึงแนะนำให้สอบถามข้อดีข้อเสียของยาแต่ละตัว รวมถึงบอกข้อมูลเรื่องโรคประจำตัวเดิมให้ครบ รวมทั้งประวัติการเลือดออกในอดีต ประวัติการแพ้ยา หรืออาจจะนำยาโรคประจำตัวเดิมไปให้แพทย์ตรวจสอบด้วยก็ได้เช่นกัน 
  • ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ถึงแม้ท่านจะรู้สึกว่าร่างกายของท่านดีขึ้นแล้วก็ตาม ยาบางตัวใช้ชั่วคราวหยุดได้เมื่อแพทย์แจ้งว่าครบกำหนด ยาบางตัวต้องทานตลอดชีวิต แนะนำปรึกษาแพทย์ผู้จ่ายยา และสอบถามอย่างละเอียด
  • หากรู้สึกหรือกังวลถึงผลข้างเคียงของยา ให้กลับไปพบแพทย์ประจำตัวของท่าน เพื่อปรึกษาเรื่องยาที่คิดว่ามีปัญหาอยู่ เป็นอันตรายอย่างยิ่งในการตัดสินใจหยุดยาเอง เนื่องจากอาจทำให้เกิดการกลับเป็นซ้ำและแย่ลงของตัวโรคหลอดเลือดสมองตีบได้

สำหรับผู้ป่วยที่ทานยาวาร์ฟารินอยู่ แนะนำอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ข้อควรระวังในคนไข้ที่กินยาวาร์ฟาริน >> คลิกอ่าน

2. การผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาที่หลอดเลือด

การป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำ เมื่อตรวจพบการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดสมอง

เมื่อตรวจพบว่ามีการตีบ หรืออุดตันของหลอดเลือด แพทย์สามารถแก้ไขได้ด้วย

  • การขยายหลอดเลือดโดยการผ่าตัด (Carotid endarterectomy)
  • การถ่างขยายหลอดเลือดโดยการใช้บอลลูนและใส่ขนลวดค้ำยัน (Balloon angioplasty and stent placement)

ในกรณีนี้ แพทย์จะเป็นผู้ให้รายละเอียดต่อผู้ป่วยและญาติถึงผลดีผลเสียรวมทั้งความเหมาะสมของการรักษาแต่ละประเภท ดังนั้นขอให้ญาติหรือผู้ป่วยพูดคุยซักถามถึงรายละเอียด ข้อบ่งชี้ รวมทั้งผลดี และความเสี่ยงของผลแทรกซ้อนของการรักษาแต่ละวิธี  

3. การควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค

นอกจากการใช้ยาและการผ่าตัดดังกล่าวแล้ว การควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองทั้งตีบและแตกได้แก่ การคุมความดัน คุมค่าน้ำตาลในเลือด คุมค่าำขมันในเลือด หยุดสูบบุหรี่ ลดน้ำหนัก หมั่นออกกำลังกาย ก็สามารถที่จะช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำของโรคหลอดเลือดสมองได้ ซึ่งการควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคนี้จัดเป็นหนึ่งในแนวทางการรักษาที่สำคัญอย่างมากของการรักษาโรคนี้

ผู้ป่วยบางท่านที่มีหลอดเลือดสมองตีบกลับเป็นซ้ำหลายๆครั้ง แม้ได้รับการผ่าตัดเปิดหลอดเลือด ลองคราบหินปูนหรือคอเลสเตรอลที่เกาะตามหลอดเลือดไปแล้วนั้น ได้รับยาต้านเกล็ดเลือด/ยาละลายลิ่มเลือดที่เหมาะสมแล้ว แต่ปัจจัยเสี่ยง ต้นกำเนิดพยาธิสภาพการเกิดโรคนั้น ยังไม่สามารถคุมปัจจัยเสี่ยงได้ ก็ย่อมมีโอกาสเกิดซ้ำ และประสบภาวะทุพพลภาพที่รุนแรงกว่าเดิมด้วย 

หากใครมีคำถามเกี่ยวกับ 

ระดับไขมันในเลือด ว่าต้องเป็นเท่าไร จะคุมระดับไขมันได้อย่างไร ตนมีความเสี่ยงหรือไม่กับการเกิดเส้นเลือดสมองตีบ? >> คลิกอ่าน

 

บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท