ปัญหาในชีวิตประจำวัน ในผู้ป่วยสโตรก ที่มีภาวะเพิกเฉยครึ่งซีก
ภาวะเพิกเฉยครึ่งซีก ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการกลับไปทำงานของผู้ป่วยอย่างมาก การดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันทั้งขั้นพื้นฐานและการใช้อุปกรณ์ต่างๆ มีความยากลำบากในการใช้งานหรือแม้กระทั่งไม่สามารถทำได้เลย
ดังที่เราได้กล่าวถึงในส่วนก่อนหน้านี้...
ภาวะเพิกเฉยครึ่งซีกเป็นหนึ่งในความผิดปกติที่พบบ่อย เป็นผลมาจากการบาดเจ็บของสมองส่วนหน้า แต่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาวะเพิกเฉยครึ่งซีกในชีวิตประจำวัน มีอะไรบ้าง ?
ตัวอย่างของปัญหาที่ผู้ป่วยอาจพบ ได้แก่
การดูแลความสะอาด สุขอนามัยส่วนบุคคล
- การแปรงฟัน การหวีผม โกนหนวด หรือแต่งหน้า ผู้ป่วยจะทำกิจกรรมเพียงด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า
- การอาบน้ำ ผู้ป่วยจะใช้สบู่หรือเช็ดตัวด้านใดด้านหนึ่ง
การแต่งตัว
- ผู้ป่วยจะมีปัญหาในการใส่เสื้อผ้าให้สัมพันธ์กับส่วนของร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น ใส่แขนเสื้อเข้าทางหัว ใส่เสื้อกลับด้านในเป็นนอก หรือหน้าเป็นหลัง เป็นต้น ซึ่งเกิดจาก ตำแหน่งของสมองส่วนการเชื่อมโนงความสัมพันธ์ มิติของภาพ หรือเรียกว่า Visuospatial dimension นั้นสูญเสียหน้าที่ไป
- หรือผู้ป่วยอาจจะสวมเสื้อผ้าเพียงด้านเดียวของร่างกาย เหมือนใส่ไม่เรียบร้อย ทั้งๆที่ผู้ป่วยเข้าใจว่าสวมใส่เสื้อผ้าเรียบร้อยเสร็จแล้ว เป็นต้น
การทานอาหาร
- ผู้ป่วยจะมีปัญหาในการตักอาหาร เพียงครึ่งจาน มองไม่เห็นอาหารในอีกครึ่งจานที่เหลือ บางครั้งผู้ป่วยมาน้อยใจคนดูแลว่า ตักอาหารให้น้อย มีแต่ข้าว ไม่มีกับเลย แต่แท้จริงแล้ว อาหารอีกครึ่ง กับข้าวนั้นถูกจัดวางไว้ตำแหน่งที่ผู้ป่วยเพิกเฉยนั่นเอง
การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
- ผู้ป่วยจะมีปัญหาในการทำความเข้าใจตารางเวลารถ
- มีความยากลำบากในการหาทิศทางหรือลงที่ป้ายที่ต้องการ บางครั้งจึงมาด้วยอาการหลงทิศทาง จำทางไม่ได้ เป็นต้น
เมื่อตัวผุ้ป่วยเอง ญาติผู้ป่วย และคนดูแลตระหนักเข้าใจถึงอาการของผู้ป่วย ก็จะทำให้การรักษาเป็นไปง่ายขึ้น เข้าใจกันในครอบครัวมากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ
หากใครต้องการติดตาม เทคนิคการฝึก ฟื้นฟูผู้ป่วยในกลุ่มนี้ ซึ่งนับว่ายากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น ติดตามกันได้ในบทความครั้งหน้า หมอจะมาแนะนำ 5 เทคนิคเพื่อฝึกผู้ป่วยในกลุ่มภาวะเพิกเฉยครึ่งซีก เผื่อนำไปประยุกต์ใช้กันค่ะ
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท