ภาวะแทรกซ้อนที่ต้องระวังในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง– สิ่งที่คนไข้และหมอไม่ต้องการ
การฟื้นฟู กายภาพ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูความสามารถในการดำรงชีวิตให้เป็นปกติ ใกล้เคียงปกติ หรือ ดีที่สุดเท่าที่สามารถฟื้นฟูได้ และเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากความทุพพลภาพที่เกิดขึ้น ภาวะแทรกซ้อนที่หมอโรคหลอดเลือดสมอง หมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูทุกคนไม่ต้องการ และคนไข้ ผู้ดูแล รวมไปถึงหมอประจำท่านอื่นเองควรกำหนดเป้าหมายให้ตรงกัน และระมัดระวังปัญหาดังกล่าว
วันนี้หมอขอมาแชร์เกี่ยวกับ ภาวะแทรกซ้อนที่ต้องระวังในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง – สิ่งที่คนไข้และหมอไม่ต้องการ (สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในผู้สูงวัยและผู้ป่วยติดเตียงด้วยโรคอื่นได้เช่นกันค่ะ)
ปัญหาที่พบได้บ่อย เช่น
สภาวะร่างกายเสื่อมถอย (Physiological deconditioning)
การซ่อมแซมร่างกายของผู้สูงวัย ต่างจากในวัยเด็ก หรือผู้ใหญ่วัยทำงาน การฟื้นตัวของร่างกายและสมองหลังเจ็บป่วย จึงเกิดขึ้นช้ากว่า ระหว่างที่รอระยะเวลาฟื้นตัวนั้น หากผู้ป่วยไม่ออกกำลังกาย ไม่หมั่นฝึกกายภาพ กล้ามเนื้อ อวัยวะบางส่วนของร่างกาย รวมไปถึงสมองและจิตใจก็จะค่อยๆดำเนินการเสท่อถอย แทนที่จะดำเนินการซ่อมแซม
สภาวะร่างกายเสื่อมถอยเกิดจากการนอนนานเกินไป มีผลทําให้เกิด
-
ความดันต่ำ (orthostatic hypotension)
อาการที่พบ คือหน้ามืดง่ายเวลาลุกยืน วิงเวียนศีรษะบ่อย ลุกแล้วจะล้ม
-
สมรรถภาพร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกลดลง (endurance ลดลง)
หลังจากสมรรถภาพทางกายเสื่อมถอยไปนานๆ มารู้ตัวอีกที 2-3เดือนต่อมา กล้ามเนื้อตามแขนขาก็ฟีบเล็กไปหมด จะออกกำลังกายทีนี้ ร่างกายไม่รู้จะเอากำลังกล้ามเนื้อส่วนไหนมาใช้งาน ยิ่งประกอบกับภาวะขาดสารอาหาร ทานได้น้อย ไม่อยากทาน ไม่บำรุงร่างกาย ยิ่งส่งผลรวมให้ร่างกายถดถอยสมรรถภาพความแข็งแรงลงไป
ข้อติด
- ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็น ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยในผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง หรือผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวเป็นระยะเวลานาน
- มีงานวิจัยพบว่าการไม่เคลื่อนไหวเป็นระยะเวลานานติดต่อกันเกิน 7 วัน ร่างกายจะเริ่มมีการสูญเสียโปรตีนของมวลกล้ามเนื้อ ส่งผลย้อนกลับทำให้ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงนั้นแย่ลงอีก ทำให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวลดลง และหากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานาน ก็จะทำให้เกิดภาวะข้อติดแข็งและความพิการตามมาได้
- ผู้ป่วยบางรายด้วยตัวโรคเองสามารถฟื้นตัวได้ อาจกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติเสียด้วยซ้ำ แต่ด้วยความละเลยการออกกำลังกายและการกายภาพในช่วงความเจ็บป่วยช่วงแรก ทำให้ในที่สุดเกิดข้อยึดติดเกร็ง ไม่สามารถกลับมาใช้มือใช้แขนได้ตามปกติ
แผลกดทับ
สาเหตุของแผลกดทับมักจะมาจากการที่ผู้ป่วยนอนนานๆ ทำให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง บริเวณที่เป็นปุ่มกระดูกต่างๆถูกกดทับ ขาดเลือดมาเลี้ยงที่บริเวณผิวหนังนั้น จึงทำให้เกิดแผลที่ผิว
- ในระยะแรกอาจมีแค่อาการลอกที่ผิวอย่างเดียว
- หากปล่อยไว้ก็อาจลอกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อและกระดูก จนเกิดแผลกดทับที่เป็นรู หรือเป็นโพรงลึกลงไปได้
การหลีกเลี่ยงหรือป้องกันแผลกดทับ
การหลีกเลี่ยงหรือป้องกันแผลกดทับนั้นก็สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยผู้ดูแลต้องหมั่นพลิกตัวผู้ป่วยทุก ๆ 2 ชั่วโมง และเปลี่ยนท่านอนของผู้ป่วยด้วย เช่น นอนหงาย นอนตะแคงสลับกันไปมา ข้างซ้ายสลับข้างขวา เป็นต้น นอกจากนี้อาจพิจารณาซื้อที่นอนหรือเบาะลมรองนอนสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ที่ป้องกันการเกิดแผลกดทับโดยเฉพาะมาใช้ร่วมด้วยก็ได้
สำหรับผู้ป่วยที่มีแผลกดทับ หมอขอแนะนำ เคล็ดลับการดูแลการขับถ่ายผู้ป่วยติดเตียงเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ >> คลิกอ่านต่อได้ที่นี่
จากปัญหาที่ได้เกริ่นให้เห็นถึงความสำคัญไปข้างต้นนั้น...
จึงต้องตระหนักและต้องป้องกัน โดยให้มี early mobilization คือค่อยๆเริ่มขยับ เริ่มกายภาพไปทีละน้อยตั้งแต่แรกเจ็บป่วย และหากผู้ป่วยเริ่มมีความสามารถในการเคลื่อนไหว มีความทนทานและความสามารถในการทำกิจกรรมเพิ่มขึ้นทุกวันๆ ( ประเมินจากจำนวนครั้งในการ ออกกำลังกายแต่ละท่าเพิ่มขึ้นในแต่ละวันโดยไม่มีอาการแทรกซ้อนระหว่างออกกำลังกาย) จึงเพิ่มจำนวนและถามถี่ของกิจกรรมเพิ่มขึ้นให้เหสมะสม และเริ่มทำกิจกรรมนอกเตียงมากขึ้น เช่น การลุกนั่งข้างเตียง ฝึกยืน และเดินได้ตามลำดับ
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท