พูดไม่ออก ฟังไม่เข้าใจ ปัญหาในคนไข้โรคหลอดเลือดสมอง

นอกจากปัญหาการอ่อนแรงของแขนหรือขาแล้ว คนไข้โรคหลอดเลือดสมองบางรายจะมีปัญหาด้านการพูดและความเข้าใจภาษาร่วมด้วย โดย มักเกิดจากรอยโรคของสมองซีกซ้าย ซึ่งเป็นส่วนของการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายซีกขวา การพูดออกมา และการรับฟังเข้าใจภาษาเข้าไป ทำให้มีปัญหาพูดไม่ชัด พูดไม่ได้ พูดไม่ออก รวมไปถึงฟังคำพูดผู้อื่นไม่เข้าใจ ไม่สามารถทำตามคำบอกของผู้อื่นได้

"การสื่อสารไม่ได้ระหว่างผู้ดูแลและผู้ป่วย อาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน ต่างฝ่ายต่างโมโหที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่เข้าใจ ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงได้"

พูดไม่ออก ฟังไม่เข้าใจ ปัญหาในคนไข้โรคหลอดเลือดสมอง

โดยเริ่มจากการตระหนักเข้าใจ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นจากตัวโรค ซึ่งผู้ป่วยก็ทุกข์ และไม่ได้อยากเป็น ไม่ใช่ว่าแกล้งทำ หรือไม่สนใจ  

  • ผู้ดูแลควรพยายามสื่อสารด้วย คำพูดที่สั้นกระชับ ไม่ซับซ้อน เริ่มต้นสื่อสารด้วยคำง่าย ๆ เช่น ใช่/ไม่ใช่ เอา/ไม่เอา 
  • หากคนไข้ไม่สามารถเข้าใจได้ อาจลองใช้ท่าทางต่างๆ เช่น การขยับปากพูดช้าๆ ให้คนไข้อ่านปากตามผู้พูด ใช้การชี้รูปภาพ หรือสัญลักษณ์ที่สื่อความต้องการแทนคำพูด
  • ญาติผู้ดูแลอาจใช้ เทคนิคปริ้นท์ภาพคำศัพท์ที่ใช้บ่อย หรือตัวอักษร เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการสื่อสารแทนได้ 
  • หากเริ่มสื่อสารได้ จึงขยับไปฝึกพูดคำที่ใช้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวันเป็นลำดับถัดไป

คนไข้ที่มีปัญหาการสื่อสาร ผู้ดูแลไม่ควรหงุดหงิด ควรทำความเข้าใจปัญหาของผู้ป่วย ใจเย็นและอดทนที่จะช่วยเหลือ ทั้งนี้การฝึกพูดและความเข้าใจภาษาจำเป็นต้องฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจึงจะได้ผลดี

สรุป! เทคนิคการสื่อสารกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

  • หันหน้าเข้าหาคนไข้ เมื่อต้องการจะพูดด้วย ไม่ทำกิจกรรมอื่นที่ส่งเสียงรบกวนร่วมด้วย เช่น เปิดวิทยุ โทรทัศน์ พร้อมกัน
  • พูดด้วยคำง่ายๆ และพูดช้า ชัด กระตุ้นให้คนไข้ตอบ เช่น ใช่ / ไม่ใช่
  • ถ้าจำเป็นให้ ใช้ท่าทาง หรือภาษามือช่วย เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
  • เวลาตอบคำถาม ต้องให้เวลา และแสดงความสนใจ ในคำพูด คำตอบของคนไข้ ไม่รีบพูดตัดบทหรือตอบแทนคนไข้ทันที
  • กระตุ้นให้คนไข้ร่วมวงสนทนาถ้าพอทำได้
  • พูดกับคนไข้ด้วยน้ำเสียงปกติ ไม่ตะโกน ไม่ใช้คำพูดที่ทำให้รู้สึกมีปมด้อย
  • การกระตุ้นและชมเชย จะช่วยให้คนไข้มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นในการฝึกฝนและพัฒนาต่อไป

              นอกจากอัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรงแล้วนั้น โรคเส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดสมองแตกยังมีอาการอื่นที่คนทั่วไปไม่เข้าใจว่าคนไข้เป็นอีกหลายแบบ >> ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ 

              ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยจะเป็นอย่างไร?

               

              บทความโดย

              หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท