เคล็ด(ไม่)ลับ การจัดท่านั่ง สำหรับผู้ป่วยติดเตียง
เพื่อให้ผู้ดูแล สามารถนำไปปฏิบัติดูแลผู้ป่วยติดบ้าน/ติดเตียงได้อย่างถูกต้องและมั่นใจค่ะ
เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ
- ทำไม “การจัดท่านั่งผู้ป่วย” จึงสำคัญ
- การจัดท่านั่งบนเก้าอี้ที่ถูกต้อง
- จัดท่านั่งบนเตียงที่ถูกต้อง
ทำไม “การจัดท่านั่งผู้ป่วย” จึงสำคัญ
ภาวะติดเตียง สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีสุขภาพร่างกายอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม บางรายอาจไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ บางรายอาจจะพอขยับร่างกายได้บ้างบางส่วน ปัญหาที่ตามมาจากภาวะติดเตียงที่พบบ่อย ได้แก่
- การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินปัสสาวะ
- การเกิดแผลกดทับ และติดเชื้อตามมา เป็นต้น
ในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง การพาลุกนั่ง ให้เปลี่ยนอิริยาบถจะช่วยป้องกันความเสื่อมถอยของร่างกายแลจิตใจผู้ป่วยได้ ดังนั้น การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ผู้ป่วยติดเตียง หรือช่วยเหลือตนเองได้น้อย จึงจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้อง
การจัดท่านั่งบนเก้าอี้ที่ถูกต้อง
1. เตรียมเก้าอี้ที่มีพนักผิง และที่รองแขนสองข้าง
2. เก้าอี้ต้องมั่นคง ไม่มีล้อเลื่อน หรือเลือกแบบที่สามารถล็อกล้อได้
3. จัดท่าแขนข้างที่อ่อนแรงให้วางอยู่บนโต๊ะที่ปรับระดับได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ไหล่งุ้ม หัวไหล่เคลื่อนหลุด
4. วางเท้าสองข้างราบกับพื้นให้ลงน้ำหนักขาสองข้างเท่ากัน
จัดท่านั่งบนเตียงที่ถูกต้อง
1. จัดท่าที่คอและศีรษะผู้ป่วยตรง
2. ใช้หมอนรองไหล่ ดันไหล่มาด้านหน้า
3. จัดท่าให้แขนหมุนออกจากลำตัวเล็กน้อย
4. ใช้หมอนรองแขนและมือ วางราบชี้มาข้างหน้า
5. แบมือ ให้นิ้วมือเหยียดออก
6. ใช้หมอนรองสะโพกดันตามความยาวของลำตัวให้สะโพกบิดมาข้างหน้าและขาหมุนเข้า
สรุปส่งท้าย
การปรับเปลี่ยนท่าทางของผู้ป่วยติดเตียงอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้ดี ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ การจัดท่านั่ง ท่านอนที่ถูกต้อง สามารถลดผลแทรกซ้อนจากภาวะติดเตียง ทั้งลดความเสี่ยงของกล้ามเนื้ออ่อนแรง ฝ่อลีบ แผลกดทับ การติดเชื้อที่ปอด และติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การจัดท่าที่ถูกต้อง ทั้งท่านั่งและท่านอนจึงเป็นมาตรการการดูแลผู้ป่วยที่ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย/ผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ ลูกหลานผู้ดูแลจึงควรให้ความสำคัญกับการจัดท่าทางให้ถูกต้อง
สำหรับ การจัดท่านอน สำหรับผู้ป่วยติดเตียง มีเคล็ด(ไม่)ลับมาฝากที่บทความหน้า >> คลิกอ่านต่อได้ที่นี่
สำหรับผู้ป่วยที่มีแผลกดทับ หมอขอแนะนำ เคล็ดลับการดูแลการขับถ่ายผู้ป่วยติดเตียงเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ >> คลิกอ่านต่อได้ที่นี่
Reference:
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท