สรุปรวม! เข้าใจภาวะแขนขาเกร็งหลังจากเกิดอัมพาต
ภาวะแขนขาเกร็งหลังจากเกิดอัมพาต คืออะไร
การหดตัวของกล้ามเนื้อหลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมองเป็นผลมาจากการที่สมองส่วนที่ถูกซ่อมแซมนั้นทำงานไม่ดี ไม่สามารถยับยั้งคำสั่งสู่กล้ามเนื้อได้ กล่าวง่ายๆคือ ทำงานมากเกินควร เมื่อไม่สามารถส่งสัญญาณไปยับยั้งการเคลื่อนไหวไปยังกล้ามเนื้อได้ จึงเกิดการออกแรงมากเกินของกล้ามเนื้อ ที่แสดงออกมาเป็นอาการเกร้งของแขนขานั่นเองค่ะ
เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง การหดตัวของกล้ามเนื้อนั้นจะทำให้กล้ามเนื้อของผู้ป่วยมีอาการเกร็งตัวหรือการหดรั้ง โดยเฉพาะตำแหน่งแขน/ขาที่อ่อนแรง
นอกจากนี้อาจมีอาการลักษณะอื่นๆ เช่น foot drop หรือ claw toe ที่เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อมากเกิน ซึ่งจะเพิ่มความลำบากในการฟื้นฟู ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือเดินได้เป็นปกติ
ภาวะแขนขาเกร็งหลังจากเกิดอัมพาต จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหลายท่าน จะเกิดอาการเกร็งของแขนขาข้างที่เป็นอัมพาตหลังจากเกิดโรคเฉียบพลันมาได้สักระยะเวลาหนึ่ง กล่าวคือกล้ามเนื้อในส่วนที่เคยอ่อนแรง กลับเปลี่ยนเป็นมีการหด เกร็งตัวขึ้นมา และมักจะมาพร้อมอาการปวดร่วมด้วย
ระยะเวลาและความรุนแรงในการเกิดการหดเกร็งกล้ามเนื้อของผู้ป่วยแต่ละรายนั้นไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมอง ขนาดของรอยโรค ตำแหน่งที่ได้รับผลกระทบจากโรค เป็นต้น
Q&A: ทำไมผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจึงเป็นตะคริวบ่อย?
หาคำตอบได้ที่ >> คลิกอ่าน
วิธีการรักษาภาวะแขนขาเกร็งหลังจากเกิดอัมพาต
การรักษาการหดตัวของกล้ามเนื้อที่ทำให้เกิดภาวะแขนขาเกร็ง จะขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค โดยสามารถใช้ยากลุ่มคลายกล้ามเนื้อ เพื่อลดอาการหดตัวของกล้ามเนื้อ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความคล่องแคล่วของข้อต่อ ป้องกันการยึดติดถาวรค่ะ
วิธีการบรรเทารักษาด้วยยา ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
- การรักษาด้วยยาทาน
ยาที่ช่วยลดอาการเกร็งในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เช่น baclofen, diazepam และ tizanidine ยาเหล่านี้สามารถช่วยลดอาการเกร็งได้ โดยการออกฤทธิ์ผ่อนคลายกล้ามเนื้อและลดสัญญาณจากสมองที่ส่งลงสู่มัดกล้ามเนื้อ ที่ทำให้เกิดอาการเกร็ง
- การรักษาด้วยยาฉีด
นอกจากการรักษาด้วยยาทานแล้วนั้น การฉีดโบท็อกซ์เพื่อการบำบัดรักษา สามารถใช้เพื่อลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนได้ โดยตัวยาโบท็อกซ์ ทำงานโดยการปิดกั้น สัญญาณที่ส่งจากเส้นประสาทไปยังกล้ามเนื้อ ทำให้ลดความตึงของกล้ามเนื้อ ลดอาการปวด ลดการบิดผิดรูปชั่วคราว รวมไปถึงช่วยให้การเคลื่อนไหวภายใต้ภาวะเกร็งนั้นฝึกได้ดีขึ้นด้วย
- การรักษาโดยการกายภาพบำบัด
กายภาพบำบัด: การบำบัดทางกายภาพสามารถช่วยเพิ่มระยะการเคลื่อนไหวและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถช่วยลดอาการเกร็งได้ นักบำบัดอาจใช้เทคนิคต่างๆ เช่น การยืดกล้ามเนื้อ การนวด และการออกกำลังกายเพื่อช่วยจัดการกับอาการเกร็ง
เทคนิคการฝึกการกายภาพบำบัดเบื้องต้นที่ช่วยลดอาการเกร็งของแขนขาในผู้ป่วยอัมพาต
- เน้นการฝึกเป็นระยะสั้นๆ: การฝึกกายภาพควรจัดเวลาเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพื่อป้องกันการความเกร็งที่จะเพิ่มขึ้นและอาการล้าของกล้ามเนื้อ เน้นความถี่เป็นการฝึกบ่อยๆ ตามที่แพทย์หรือนักกายภาพบำบัดกำหนดแทน
- การฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อแขนและขา: ทำการยืดกล้ามเนื้อด้วยการเหยียดแขน หรือขาออกและยกขึ้น การฝึกยืดจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและช่วยลดการเกร็งได้
- การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขนและขา: การฝึกกล้ามเนื้อแขนและขาจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้สามารถออกแรงได้ดีขึ้น นานขึ้น และเกร็งลดลง
- การเพิ่มระยะการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ด้วยการฝึกขยับกล้ามเนื้อและข้อต่อ เช่น การงอ-เหยียดข้อต่อและการหมุนข้อต่อในองศาที่เหมาะสม
การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า FES
นอกจากเทคนิคพื้นฐานด้วยการกายภาพบำบัดแล้ว การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า เช่น การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า Functional Electrical Stimulation (FES) ยังสามารถช่วยลดอาการเกร็งและเพิ่มการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้
โดย FES คือการกระตุ้นไฟฟ้าที่กล้ามเนื้อขนาดเล็ก เพื่อกระตุ้นเส้นประสาทและกล้ามเนื้อภายใต้บริเวณที่ถูกกระตุ้น ช่วยให้ลดความตึงของกล้ามเนื้อ รวมถึงสามารถเพิ่มระยะการเคลื่อนไหวของข้อต่อได้
สุดท้ายนี้
การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะแขนขาเกร็งหลังจากเกิดอัมพาตนั้น เป็นการรักษาระยะยาว ผู้ดูแลควรมีส่วนร่วมในการฝึกกายภาพให้เป็นประจำต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาอาการเกร็งในผู้ป่วย และป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำค่ะ
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท