เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ จะหายเป็นปกติได้หรือไม่?
ผู้ป่วยหลายท่านเวลามาตรวจติดตามกับหมอ มักถามคำถามยอดฮิตว่า ตนเองจะกลับมาเป็นปกติได้หรือไม่? ใช้เวลานานเท่าไหร่? หมอเข้าใจดี คนไข้ทุกคนอยากหาย อยากกลับไปแข็งแรง ใช้ชีวิตได้ตามปกติดังเดิม
คงไม่มีคำตอบใดถูกต้องทั้งหมด... เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกนั้น เป็นโรคที่มีความซับซ้อน อาการผิดปกติและสิ่งที่เสียไปขึ้นกับตำแหน่งที่เกิดรอยโรค ผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกัน การที่จะพยากรณ์ว่ารายใดจะมีผลการรักษาฟื้นฟูดีจนปกติ เกือบปกติ มีความพิการบ้าง มีความพิการปานกลางหรือรุนแรงนั้น อาศัยหลายปัจจัย
การรักษาให้ได้ผลดีขึ้นอยู่กับ
1. เวลา
ยิ่งได้รับการรักษาเร็วเท่าไร จะยิ่งมีโอกาสหายเป็นปกติได้มากเท่านั้น จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่เมื่อสังเกตพบความผิดปกติ ต้องรีบมารพ.ทันที ใกล้ที่สุด ให้เร็วที่สุด ไม่แนะนำให้รอสังเกตอาการ ดูว่าจะหายเองหรือไม่ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ส่วนมากแย่ลงทั้งสิ้น หรือบางครั้งโชคดีหายเองจนสนิท จนไม่มาโรงพยาบาล แต่รู้หรือไม่ว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นอาจเป็นอาการเตือนของครั้งต่อไปที่มักจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิม จนอาจนำไปสู่ภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต ในที่สุด
2. ความรุนแรงและความบกพร่องของการทำงานของสมอง
ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงน้อยจะมีโอกาสหายได้สูงกว่า ซึ่งความรุนแรงก็แปรผันไปตามพยาธิสภาพของโรค เช่น เกิดการตีบตันที่เส้นเลือดสมองเส้นใหญ่หรือเล็ก อันเป็นผลให้รอยโรคสมองกินบริเวณใหญ่แค่ไหน และอยู่บริเวณตำแหน่งใดของสมอง
3. ความพร้อมของเทคโนโลยีในการรักษา
ความพร้อมของเทคโนโลยีในการรักษา โดยใช้อุปกรณ์หรือเทคนิคที่เหมาะสมและยาที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นปัจจัยที่สำคัญของผลสำเร็จของการรักษา
สำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ที่เกิดจากการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดในระยะเฉียบพลันที่มีการศึกษายืนยันแล้วว่าได้ผลดีชัดเจน ได้แก่
1. การให้ยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำแก่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (thrombolysis)
การให้ยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำแก่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันภายในเวลา 4.5 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จะเพิ่มโอกาสของการฟื้นตัวจากความพิการให้อาการกลับมาใกล้เคียงปกติได้ถึง 1.5 – 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ได้รับยา อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้มีความเสี่ยงของเลือดออกในสมองได้ประมาณ 6%
ปัจจัยข้อนี้ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของเวลาที่ได้รับการรักษา ว่ายิ่งเร็วยิ่งดี
2. การให้รับประทานยาแอสไพริน (aspirin)
การให้รับประทานยาแอสไพรินอย่างน้อย 160 mg ต่อวันภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตันซ้ำและเสียชีวิตลง (ระยะเวลาที่เหมาะสมควรยึดตามแพทย์ผู้ดูแล เนื่องจากอาจแตกต่างกันขึ้นกับสภาวะของผู้ป่วยแต่ละท่าน)
3. การดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (stroke unit)
การดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ที่มีการเฝ้าระวังอาการทรุดลงของโรค เฝ้าระวังมอนิเตอร์จังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ และเลือกใช้ยารักษาโรคหลอดเลือดสมองที่ตรงกับสาเหตุการเกิดโรค
4. อายุของผู้ป่วย (age)
ผู้ป่วยที่อายุน้อยมักจะฟื้นตัวได้ดีกว่า เนื่องจากมักยังไม่มีโรคร่วมอื่นที่มักเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคทางจิตเวช และโรคไต
นอกจากนี้การควบคุมความดัน การป้องกันภาวะแทรกซ้อน การทำกายภาพฟื้นฟู ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการฟื้นตัวของผู้ป่วยทั้งสิ้น
>> อ่านเพิ่มเติม ข้อแนะนำ การกายภาพบำบัดหลังการรักษาในระยะเฉียบพลัน
แต่เดิมมีความเชื่อว่าสมองส่วนใดถูกทำลายไปแล้วจะมีการเสียการทำงานไปอย่างถาวร แต่ในปัจจุบันมีการศึกษาเพิ่มขึ้น พบว่าสมองสามารถฟื้นตัวได้ และส่วนของสมองบริเวณข้างเคียงสามารถเรียนรู้มาทำงานทดแทนส่วนที่มีรอยโรคได้
แม้จะไม่ใช่ว่าสมองจะกลับมาทำงานได้ปกติดีทั้งหมด แต่หากได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่เหมาะสม ได้รับกำลังใจจากคนในครอบครัว ทุกคนร่วมมือกันในการดูแลยามที่ผู้ป่วยท้อแท้ ย่อมจะยิ่งทำให้การทำงานของร่างกายนั้นเป็นไปอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ตอบคำถามยอดฮิต! ต้องฝึกมากแค่ไหน กล้ามเนื้ออ่อนแรงจึงจะดีขึ้น
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท