ท้องผูกในผู้สูงวัย เกิดจากอะไร?
ท้องผูก คืออาการถ่ายอุจจาระลำบาก ต้องเบ่งและใช้เวลานาน อุจจาระมีลักษณะแข็งมาก หลังจากถ่ายเสร็จแล้วยังปวดท้องและมีความรู้สึกว่าถ่ายไม่หมด รวมถึงการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
อาการท้องผูกในผู้สูงวัยจะมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ทำให้เกิดอาการอืดแน่นท้อง ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง ในบางกรณีหากเป็นมากอาจทำให้เกิดความเครียด จิตใจห่อเหี่ยว ส่งผลให้ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้
นอกจากระบวนการย่อยทำหน้าที่ลดลงดังได้กล่าวไปเบื้องต้น ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่มีปัญหาท้องผูกมักเกิดจากปัจจัยร่วมหลายอย่าง
สาเหตุที่พบบ่อย
- ปัญหาเรื่องฟันและช่องปาก หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอาจสร้างปัญหาการเคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด ส่งผลให้ท้องอืดเฟ้อหลังอาหาร จนทำให้ไม่อยากรับประทานอาหารได้
- รับประทานอาหารที่มีใยอาหารไม่เพียงพอ เนื่องจากกากใยอาหารมักเคี้ยวยาก มีความเหนียว ยากต่อการเคี้ยวบด ผู้สูงอายุจึงมักเลือกรับประทานอาหารนิ่มที่ขาดใยอาหาร
- ดื่มน้ำน้อย ผู้สูงอายุกับปัญหาปัสสาวะเล็ดหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นของคู่กัน หลายท่านจึงเลือกที่จะดื่มน้ำน้อยหรือไม่ดื่มระหว่างวันเลย อาการท้องผูกจึงเป็นปัญหาที่ตามมา
- ขาดการออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวร่างกายในผู้สูงอายุเป็นเรื่องยาก อาจเนื่องด้วยกลัวการพลัดตกหกล้ม หรือบางกรณีที่มีอาการป่วยจากโรคเรื้อรัง รวมถึงไม่เห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย
- อาการป่วยเรื้อรัง และได้รับยาบางชนิด ส่งผลให้มีอาการท้องผูก
- ภาวะเครียดเรื้อรัง
- มีนิสัยกลั้นอุจจาระ
วิธีการป้องกันและแก้ไข
- แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง
- แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ซึ่งจะมีผลต่อกลไกกระตุ้นปฏิกิริยาที่ทำให้มีการบีบตัวของทางเดินอาหารอย่างเป็นระบบ เกิดการหลั่งฮอร์โมนที่เพิ่มการทำงานของลำไส้ ทำให้บรรเทาอาการท้องผูกลงได้
- โดยปกติผู้สูงอายุควรได้รับใยอาหารประมาณวันละ 20 – 35 กรัม
- แต่ในผู้ที่มีปัญหาท้องผูกควรได้รับอาหารที่มีใยอาหารเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 25 – 60 กรัม เนื่องจากการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงจะช่วยเพิ่มกากและน้ำหนักในอุจจาระ รวมถึงกากใยยังช่วยอุ้มน้ำ ทำให้อุจจาระอ่อนและเคลื่อนตัวได้ง่าย ช่วยการขับถ่ายให้สะดวกขึ้น
- ดัดแปลงอาหารให้มีลักษณะอ่อนนุ่ม ย่อยง่าย
- เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีปัญหาฟันไม่แข็งแรง หรืออาจไม่มีฟันเลย ส่งผลให้บดเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด เกิดอาการท้องอืดเฟ้อ อีกทั้งกากใยอาหารส่วนใหญ่พบในผัก ผลไม้ มีเนื้อเหนียว ยากต่อการเคี้ยวให้ละเอียด
- การดัดแปลงอาหารให้มีลักษณะอ่อนนุ่ม ย่อยง่าย เคี้ยวง่าย กลืนง่าย จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการประกอบอาหาร ดัดแปลงให้อาหารอ่อนนุ่มลง เช่น การหั่น การสับหรือการปั่นอาหารให้ชิ้นเล็กลงก่อนนำไปประกอบอาหารด้วยวิธีการนึ่ง ตุ๋น หรือการต้มอาหารให้นิ่ม
- ดื่มน้ำปริมาณเหมาะสม
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว โดยแบ่งดื่มทั้งวัน หรือปรับปริมาณน้ำดื่มให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของผู้ป่วย ผู้สูงวัยแต่ละบุคคล
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ออกกำลังกายเบาๆ เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น เดินเล่นหลังรับประทานอาหาร หรือแกว่งแขนยามเช้า จะช่วยให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหว ช่วยในเรื่องการขับถ่ายได้ดีขึ้น
- ลดความเครียด ความกังวล
- ทำจิตใจให้แจ่มใส ฝึกขับถ่ายเป็นเวลาทุกวัน และไม่ควรใช้ยาระบายในผู้สูงวัยนานจนติดเป็นนิสัยทำให้ไม่สามารถขับถ่ายด้วยตัวเอง
- ใช้ยาที่ปลอดภัยเท่าที่จำเป็น
- อาจพิจารณาใช้ยาระบาย (stimulant laxative) เช่น Dulcolax เป็นยาระบายที่ออกฤทธิ์ให้เกิดการเคลื่อนไหวแบบบีบรูด และการหลั่งน้ำย่อยเพิ่มมากขึ้น ช่วยให้มีการขับถ่ายอุจจาระ โดยวิธีการใช้ยาระบายอาจให้โดยการรับประทานหรือใช้เหน็บทางทวารหนักก็ได้
อย่างไรก็ตามนอกจากหากพบว่าอาการท้องผูกเกิดร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด ถ่ายเป็นมูกเลือด ลักษณะอุจจาระผิดปกติไป หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนและรับการรักษาที่ถูกต้อง
อ่านเพิ่มเติม
- 4 สาเหตุ! ทำไมผู้สูงวัยถึงปัสสาวะรดที่นอน?
- เทคนิคการดูแลการขับถ่ายผู้ป่วยติดเตียง-ป้องกันแผลกดทับ
-
เข้าใจปัญหาการขับปัสสาวะของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองไปตามสเต็ป
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท