แก้ปัญหา-ท้องผูกในผู้ป่วยสูงวัยและผู้ป่วยติดเตียง

จากคำปรึกษาของตัวผู้ป่วยเองหรือญาติเวลามาพบกันในคลินิก ภาวะท้องผูกในผู้ป่วยสูงวัย เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีปัญหาด้านการสื่อสารร่วมด้วย สถาณการณ์อาจแย่ลงเพราะผู้ป่วยเองไม่สามารถพูดบอกได้  

หมอขออนุญาตแนะนำข้อสังเกตอาการที่ดูไม่สุขสบาย และข้อแนะนำในการนำไปใช้จริงที่บ้าน ในการดูแลสุขภาวะการขับถ่ายอุจจารของผู้ป่วย ดังนี้ค่ะ

ท้องผูกในผู้ป่วยสูงวัยและผู้ป่วยติดเตียง

การสังเกตภาวะท้องผูก อุจจาระแข็งในผู้ป่วยสูงวัย หรือติดเตียง 

  • ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ท้องอืด ท้องโตแน่น แต่กดไม่เจ็บ ไม่มีหน้าท้องแดง (หากปวดท้อง กดเจ็บ หรือผนังหน้าท้องแดง เป็นสัญญานบ่งชี้ถึงภาวะติดเชื้อนะคะ ควรรีบพาไปตรวจที่โรงพยาบาลค่ะ)
  • ผู้ป่วยอาจมีปัญหารับฟีดอาหารไม่ได้ ดูเบื่อหาร ไม่อยากอาหาร เพราะท้องแน่นจากอุจจาระที่ค้างเก่าอยู่แล้ว
  • อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย 

ภาวะดังกล่าวเกิดจากอาหารค้างอยู่ในลำไส้มาก แน่นท้อง ไม่สุขสบาย แต่อาจไม่สามารถพูดบอกได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านการสื่อสาร 

การดูแลเรื่องการขับถ่ายของผู้ป่วยติดเตียง 

1.พยายามให้ผู้ป่วยติดเตียงถ่ายอุจจาระทุกวัน

  • การปรับสูตรอาหารของผู้ป่วยให้เหมาะสม มีปริมาณกากใย ไฟเบอร์ที่พอควร เช่น เพิ่มปริมาณผัก ประเภทผักกาด ผักคะน้า ผลไม้ที่กากใยสูง จำพวกมะละกอสุก ส้ม กล้วย
  • หากทานอาหารทางสายยาง อาจใส่กล้วยน้ำว้า มะละกอลงปั่นด้วย จะช่วยให้ผู้ป่วยถ่ายคล่องขึ้น ลดการเบ่งถ่ายอุจจาระ หรืออุจจาระค้างแข็งในลำไส้ส่วนปลาย   

2.บางรายอาจพบผู้ป่วยติดเตียงมีปัญหาท้องเสีย

  • ควรสังเกตการถ่ายอุจจาระ หากมีการถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง โดยสังเกตสี จำนวน และลักษณะของอุจจาระ
  • อาจทำการจดบันทึกตามรอบที่เปลี่ยนแพมเพิสลงในสมุดจด เพื่อเปรียบเทียบกับลักษณะการขับถ่ายเดิมของผู้ป่วย
  • หากพบว่าถ่ายบ่อย เละเหลว มีกลิ่นเหม็นมากผิดปกติ หรือเริ่มมีไข้ อาจเป็นสัญญานเตือนว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้น และควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ 

3.การใช้ยาบรรเทาอาการเบื้องต้น

หากพบผู้ป่วยติดเตียงมีปัญหาท้องผูก ควรปรึกษาแพทย์ให้ยาระบายหรือยาเหน็บ ถ้าจำเป็นอาจพิจารณาสวนอุจจาระ 

4.ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับน้ำสะอาดอย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน

(ยกเว้นกรณีที่แพทย์จำกัดปริมาณน้ำ)

การละเลยปัญหาท้องผูกนี้ ในที่สุดอาจนำมาซึ่งปัญหาริดสีดวงทวาร (hemorrhoids) หรือการเกิดแผลเลือดออกที่รูทวารหนัก (anal fissure) ได้ ดังนั้นเราควรใส่ใจการดูแลเรื่องการขับถ่ายของผู้ป่วยติดเตียงอยู่เสมอ

อ่านเพิ่มเติม >> 

 

บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท