ขั้นตอนการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน - ฉบับเต็ม
โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน เป็นโรคที่เฉียบพลันกระทันหันดังชื่อ ไม่มีใครเตรียมตัวหรือคาดคิดกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นมา เมื่อเกิดขึ้นตัวผู้ป่วยเองหรือญาติส่วนใหญ่ มักอยู่ในภาวะช็อค ตกใจ รับมือไม่ไหว ทำความเข้าใจไม่ทัน กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
วันนี้หมอจึงอยากมาสรุปให้ฟังอย่างใจเย็น เพื่อช่วยให้ตัวผู้ป่วยเองเเละญาติผู้ดูแลเข้าใจเป็นทีละสเต็ปไป
ขั้นตอนการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลันที่เกิดจากการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดแบ่งออกเป็น
-
ขั้นตอนที่ 1 การรักษาในระยะเฉียบพลัน
-
ขั้นตอนที่ 2 การป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำด้วยการให้ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด
-
ขั้นตอนที่ 3 การทำกายภาพฟื้นฟู
ขั้นตอนที่ 1
การรักษาในระยะเฉียบพลัน ได้แก่
1. การให้ยาสลายลิ่มเลือด (Tissue plasminogen activator, t-PA)
การให้ยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำแก่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ภายในเวลา 4.5 ชั่วโมง หลังเกิดอาการจะ เพิ่มโอกาสของการฟื้นตัวจากความพิการให้อาการกลับมาใกล้เคียงปกติได้ถึง 1.5-3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ได้รับยา
อย่างไรก็ตาม การใช้ยานี้มีความเสี่ยง กล่าวคือผู้ป่วยจะมีโอกาสเกิดเลือดออกในสมองได้ประมาณ 6%
หลังผู้ป่วยหรือญาติสังเกตพบความผิดปกติ อาการบ่งชี้ของโรคหลอดเลือดสมองตีบ ให้รีบไปโรงพยาบาลใกล้บ่านให้เร็วที่สุด ขอเน้นย้ำว่าใกล้ที่สุด และ เร็วที่สุด
ห้ามรอสังเกตอาการดูก่อน ขอนอนพักดูก่อน พรุง่นี้เช้าค่อยไป ลูกไม่ว่าง สามียังไม่กลับจากที่ทำงาน การรอเวลานับจากเริ่มมีอาการผิดปกตินั้น เป็นจุดที่น่าเสียดายอย่างมากที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถมาทันเวลา ในการได้รับยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำได้ ซึ่งการไม่ได้รับสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำนั้น ทำให้อัตราการฟื้นตัวจากความพิการด้อยลง กว่าการได้รับยาอยู่มาก จากโอกาสที่อาจจะสามารถกลับมาเป็นคนปกติได้ กลายเป็นต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียง ต้องพึ่งพาลูกหลานในอนาคตตลอดไป
2. การใช้ขดเลือดสอดเข้าไปในหลอดเลือดแดง ลากเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากสมอง (Mechanical Thrombectomy)
การใช้ขดเลือดสอดเข้าไปในหลอดเลือดแดง ลากเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากสมองเป็นการรักษามาตรฐานขั้นสูงสำหรับโรคหลอดเลือดสมองที่เกิด จากการอุดตันของหลอดเลือดขนาดใหญ่ในสมอง โดยการสอดสายสวนจากขาหนีบเข้าไปในสมองผ่านหลอดเลือดแดง เพื่อนำเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากหลอดเลือดสมองให้เร็วที่สุด
- เป็นการรักษาขั้นสูง โดยการตัดสินใจว่าผู้ป่วยสามารถได้รับการรักษานี้หรือไม่นั้นขึ้นกับการประเมิณโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดสมอง
- การประเมินจะประกอบด้วยหลายปัจจัย เช่น ส่วนเนื้อสมองที่ยังดีอยู่ ที่สามารถทำให้เลือดกลับไปเลี้ยงได้อีกครั้ง เป็นต้น
โดยผลการรักษาของการใช้ขดเลือดสอดเข้าไปในหลอดเลือดแดง ลากเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากสมองนี้ ได้รับการพิสูจน์และใช้ในทางปฏิบัติมาแล้วนับสิบปี และจากความรู้ที่ได้ตามมา หลังจากงานวิจัยต่างๆ ที่แสดงผลดีของการรักษา ที่เพิ่มไปกว่าการได้รับยาสลายลิ่มเลือดดังข้อ 1 เพียงอย่างเดียว
- ลดจำนวนวันการนอนโรงพยาบาล
- ลดความพิการทุพพลภาพ
- ถึงขั้นผู้ป่วยบางรายสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ
3. การให้รับประทานยาแอสไพรินอย่างน้อย 160 mg
การให้รับประทานยาแอสไพรินอย่างน้อย 160 mg ต่อวันภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตันซ้ำและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ขึ้นกับแพทย์ผู้รักษาประเมินช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มยาต้านเกล็ดเลือด เพราะผู้ป่วยบางท่านอาจมีจุดเลือดออกภายในเนื้อสมองที่ตายนั้น ก็จะทำให้การเริ่มยาต้านเกล้ดเลือดนั้นเลื่อนออกไป
4. การรับตัวผู้ป่วยไว้ในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน
การรับตัวผู้ป่วยไว้ในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันนับเป็นการรักษาที่ช่วยลดอัตราการตายหรือพิการอีกวิธีหนึ่ง โดยในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองตีบนั้นสามารถกลับเป็นซ้ำหรืออาการแย่ลงได้ในช่วงแรก
ขั้นตอนที่ 2
การป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำด้วยการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
ยาต้านเกล็ดเลือดและยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดสามารถป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำได้
-
ยาต้านเกล็ดเลือด
เกล็ดเลือดเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งที่อยู่ในกระแสเลือด เมื่อเกล็ดเลือดถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยบางอย่าง จะเกิดการเกาะกันโดยอาศัยสารเคมีในร่างกายเป็นตัวเชื่อม เกิดเป็นลิ่มเลือดซึ่งสามารถอุดตันหลอดเลือดได้ ยาต้านเกล็ดเลือดจะป้องกันไม่ให้เกิดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
-
ยาละลายลิ่มเลือด
นอกจากการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดแล้ว ลิ่มเลือดยังสามารถเกิดได้จากการกระตุ้นปัจจัยการแข็งตัวของเลือด (coagulation factor) ยานี้มีหน้าที่ยับยั้งการทำงานของปัจจัยการแข็งตัวของเลือด และทำให้เลือดไม่แข็งตัว
นอกจากการใช้ยาดังกล่าวแล้ว การให้ยาลดความดันโลหิตและยาลดระดับไขมันในเลือด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง ก็สามารถที่จะช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำของโรคหลอดเลือดสมองได้
ผู้ป่วยและญาติควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องยาเสมอ
- ทำความเข้าใจถึงประโยชน์และผลของยาที่ท่านได้รับ เนื่องจากปัจจุบัน มียาตัวเลือกหลากหลายมาก มีข้อแตกต่างที่ได้รับการวิจัยพิสูจน์ในข้อดี ข้อเสียต่างๆกัน การเลือกยาที่เหมาะสมกับตัวผู้ป่วยแต่ละท่าน ทั้งปัจจัยเรื่องโรคประจำตัวอื่นๆที่มีร่วม ยาอื่นๆที่ท่านทานอยู่เดิม เป็นต้น
- แพทย์เฉพาะทางต้องใช้ข้อมูลหลายอย่างประกอบในการตัดสินใจ จึงแนะนำให้สอบถามข้อดีข้อเสียของยาแต่ละตัว รวมถึงบอกข้อมูลเรื่องโรคประจำตัวเดิมให้ครบ รวมทั้งประวัติการเลือดออกในอดีต ประวัติการแพ้ยา หรืออาจจะนำยาโรคประจำตัวเดิมไปให้แพทย์ตรวจสอบด้วยก็ได้เช่นกัน
- ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ถึงแม้ท่านจะรู้สึกว่าร่างกายของท่านดีขึ้นแล้วก็ตาม ยาบางตัวใช้ชั่วคราวหยุดได้เมื่อแพทย์แจ้งว่าครบกำหนด ยาบางตัวต้องทานตลอดชีวิต แนะนำปรึกษาแพทย์ผู้จ่ายยา และสอบถามอย่างละเอียด
- หากรู้สึกหรือกังวลถึงผลข้างเคียงของยา ให้กลับไปพบแพทย์ประจำตัวของท่าน เพื่อปรึกษาเรื่องยาที่คิดว่ามีปัญหาอยู่ เป็นอันตรายอย่างยิ่งในการตัดสินใจหยุดยาเอง เนื่องจากอาจทำให้เกิดการกลับเป็นซ้ำและแย่ลงของตัวโรคหลอดเลือดสมองตีบได้
อ่านเพิ่มเติม เกี่ยวกับ ข้อควรระวังในคนไข้ที่กินยาวาร์ฟาริน มีอาหารหรือยาอะไรบ้างที่ทำให้ยาไม่ได้ระดับ เสี่ยงต่อการเกิดเลือดออก หรือการกลับเป็นซ้ำของสโตรก >> คลิก
การป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำ เมื่อตรวจพบการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดสมอง
เมื่อตรวจพบว่ามีการตีบ หรืออุดตันของหลอดเลือด แพทย์สามารถแก้ไขได้ด้วย
- การขยายหลอดเลือดโดยการผ่าตัด (Carotid endarterectomy)
- การถ่างขยายหลอดเลือดโดยการใช้บอลลูนและใส่ขนลวดค้ำยัน (Balloon angioplasty and stent placement)
ในกรณีนี้ แพทย์จะเป็นผู้ให้รายละเอียดต่อผู้ป่วยและญาติถึงผลดีผลเสียรวมทั้งความเหมาะสมของการรักษาแต่ละประเภท ดังนั้นขอให้ญาติหรือผู้ป่วยพูดคุยซักถามถึงรายละเอียด ข้อบ่งชี้ รวมทั้งผลดี และความเสี่ยงของผลแทรกซ้อนของการรักษาแต่ละวิธี
ขั้นตอนที่ 3
การทำกายภาพฟื้นฟู
ความพิการที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองนั้นส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย แพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทำกายภาพบำบัด เพราะการทำกายภาพบำบัดมีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ ลดภาระพึ่งพาต่อผู้อื่นน้อยที่สุด ซึ่งนักกายภาพบำบัดจะกำหนดกิจกรรมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป
การกายภาพบำบัดหลังการรักษาในระยะเฉียบพลัน พบว่ามีประสิทธิภาพและเห็นผลดีที่สุดอยู่ในช่วง 6 เดือนแรก หรือที่เรียกกันว่า Golden Period
หลังจากมีอาการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และพ้นจากช่วงอาการวิกฤตมาแล้ว จึงต้องเร่งให้การรักษาเพื่อกระตุ้นเซลล์สมองให้กลับมาทำงานและสามารถสั่งให้ร่างกายที่ผิดปกติกลับมาทำงานได้ใหม่ โดยแบ่งเป็นสามช่วง คือ ระยะเฉียบพลัน ระยะฟื้นตัว และระยะทรงตัว
-
ระยะเฉียบพลัน
เป็นการรักษาและเฝ้าระวังในระยะ 1-2 สัปดาห์ การบำบัดฟื้นฟูในช่วงนี้ จะเริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยยังไม่สามารถช่วยตนเองได้ ในขณะที่ผู้ป่วยยังนอนอยู่บนเตียง ภายหลังจากที่ล้มป่วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
การฟื้นฟูในช่วงนี้เพื่อให้ผู้ป่วยสูญเสียพละกำลังไปน้อยที่สุด รวมถึงการทำให้ผู้ป่วยเสียความเป็นตัวเองให้น้อยที่สุด
โดยแพทย์จะทำการประเมินอาการของผู้ป่วยด้วยการทดสอบ การตอบสนองของร่างกาย จากนั้นจึงวางแผนร่วมกับสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ออกแบบโปรแกรมการรักษาให้ตรงจุดของอาการผู้ป่วย เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
-
ระยะฟื้นตัว
เป็นการเร่งให้การรักษาเพื่อกระตุ้นให้เซลล์สมองข้างเคียงของส่วนที่ตายไป เร่งกลับมาทำงานและสามารถสั่งให้ร่างกายที่ผิดปกติกลับมาทำงานได้ใหม่ ภายในช่วงเวลา 3-6 เดือน
โดยโปรแกรมการรักษา ควรต้องรวมศาสตร์หลายแขนงเข้าด้วยกัน เช่น แพทย์ด้านสมองและระบบประสาท นักกายภาพ นักโภชนาการบำบัด การผสมผสานในการรักษาเหล่านี้ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาในส่วนที่ผู้ป่วยเป็น และยังช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติหรือใกล้เคียงปกติ อาการของผู้ป่วยในช่วงนี้จะเริ่มทรงตัว และสามารถนั่งเป็นเวลานานๆได้ จึงจะเริ่มทำการบำบัดฟื้นฟูที่ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหรือแผนกกายภาพบำบัดเฉพาะทาง
-
ระยะทรงตัว
หลังจากพ้นระยะฟื้นตัว โดยทั่วไปผู้ป่วยแต่ละรายจะมีการฟื้นฟูที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงแรกภายหลังจากที่ล้มป่วยใหม่ๆ แต่ในทางตรงกันข้าม หากสมรรถนะใดไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติได้ในช่วงนี้ ก็มีโอกาสสูงที่อาการบกพร่องพิการนั้นจะเหลือติดตัวไปตลอดชีวิต ผู้ป่วยจะต้องทำการบำบัดต่อเนื่องเพื่อรักษาอาการบกพร่องดังกล่าวไม่ให้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
ผลของการทำกายภาพบำบัดนอกจากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติแล้ว ยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยได้อีกด้วย
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจำเป็นต้องเริ่มการฝึกกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูร่างกายโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งมักจะเริ่มต้นที่โรงพยาบาล และต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว ยิ่งทำเร็ว ยิ่งทำเยอะ ผลลัพธ์ยิ่งดีค่ะ
สำหรับวิธีการทำกายภาพบำบัด ที่"เริ่มเร็วและเข้มข้น" ในผู้ป้วยโรคหลอดเลือดสมอง สามารถอ่านต่อได้ที่ >>
ข้อแนะนำ การกายภาพบำบัดหลังการรักษาในระยะเฉียบพลัน
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท