ภาวะเพิกเฉยครึ่งซีก ไม่ยอมขยับเพราะว่าขี้เกียจ?
ภาวะเพิกเฉยครึ่งซีก หลังป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือ ศัพท์การแพทย์เรียกว่า Hemispatial neglect คืออะไร?
ภาวะเพิกเฉยครึ่งซีกหลังโรคหลอดเลือดสมอง คือภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับรู้สิ่งเร้าที่นำเสนอในซีกของร่างกายตรงข้ามกับซีกของสมองที่ได้รับผลกระทบจากโรคหลอดเลือดสมองได้
ภาวะเพิกเฉยครึ่งซีก มักพบได้ใน โรคหลอดเลือดสมอง เรียกว่า Post-stroke neglect syndrome ซึ่งเกิดจากรอยโรคของสมองในฝั่งขวา ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการมองเห็นและสัมผัสสิ่งของในฝั่งซ้ายของร่างกาย
ยกตัวอย่างเช่น
- ผู้ป่วยที่มีรอยโรคที่สมองส่วนหน้าฝั่งขวา มักจะมีภาวะเพิกเฉยครึ่งซีกของร่างกายซีกซ้าย
- ผู้ป่วยจะไม่สามารถรับรู้หรือตอบสนองกับสิ่งของหรือบุคคลทางด้านซ้ายได้ อาการนี้มักเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงในข้างซ้าย อาการสับสน หรืออาการบกพร่องทางความจำ
ภาวะนี้ส่งผลอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
ญาติบางท่านมาบอกหมอว่า ผู้ป่วยขี้เกียจ ไม่ยอมฝึก ไม่ยอมหยิบจับด้วยข้างที่อ่อนแรง ไม่ใช้มือซ้าย ไม่สนใจญาติที่อยู่ทางซ้าย ทานข้าวไม่หมดจาน เหลืออาหารไว้ครึ่งจากฝั่งซ้าย โกนหนวดแค่ฝั่งซ้าย หนวดฝั่งขวายังยาวเฟิ้มอยู่ก็ไม่สนใจ ล้างหน้าครึ่งซีก อาบน้ำครึ่งซีก อีกข้างยังมีฟองสบู่ติด เป็นต้น
อาการเหล่านี้เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับผู้ป่วยและญาติ โดยข้อสำคัญที่หมออยากให้ญาติเข้าใจ คือ ผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจทำ ไม่ได้อยากเล่น หรือชวนให้ญาติโมโห คนดูแลบางคนไม่เข้าใจนึกว่าผู้ป่วยแกล้ง หรือขี้เกียจ จนพาลกันทะเลาะไปได้
การรักษาอาการนี้จะเน้นการฝึกฝนและการฟื้นฟูฟังก์ชันของสมอง ซึ่งอาจจะรวมถึงการฝึกซ้อมการมองเห็นและการสัมผัสที่ ร่างกายด้านที่เพิกเฉย ประกอบกับการฝึกทักษะในการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อเรียนรู้ ฝึกสังเกตสิ่งต่างๆ ในด้านนั้นของร่างกายเป็นส่วนสำคัญอีกด้วย
ณ ตอนนี้ หากเข้าใจว่า อาการเพิกเฉยครึ่งซีกนี้ เป็นภาวะจากตัวโรค ย่อมทำให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจ คนดูแลใจเย็นลงได้นะคะ
การฝึกผู้ป่วยกลุ่มนี้ นับว่ายากกว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่มีอาการเพิกเฉยครึ่งซีก ต้องอาศัยเทคนิคพิเศษ และต้องเน้นให้ฝึกแบบกระตุ้นสมอง ด้วยวิธีการต่างๆเพิ่มเติม
วันนี้หมอขอมาแนะนำให้รู้จักภาวะนี้ ผ่านภาพ/ความรู้สึกของผู้ป่วยที่ประสบภาวะนี้ เพื่อให้ญาติได้เข้าใจอาการของผู้ป่วยมากขึ้นก่อน
ท่านใดสนใจอ่าน
เผื่อนำไปประยุกต์ใช้กันค่ะ
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท