คู่มือการดูแล ผู้ป่วยสโตรกที่มีภาวะเพิกเฉยครึ่งซีก (Post stroke hemispatial neglect)
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีภาวะเพิกเฉยครึ่งซีก มีความเสี่ยงสูงที่จะหกล้ม หลงทิศทาง สับสนมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่มีภาวะนี้ ส่วนมากอาจทำให้การฝึก การกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติของผู้ป่วยทำได้ยาก อาจมีผลการฟื้นฟูที่แย่กว่า และอาจต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้นกว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกลุ่มที่ไม่มีภาวะเพิกเฉยครึ่งซีก
วันนี้หมอจะขอมาอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับเคล็ดลับ และข้อมูลที่จะสามารถช่วยคนไข้และญาติผู้ดูแลในการเริ่มต้นกันค่ะ
โรคหลอดเลือดสมองเป็นการบาดเจ็บของสมองซึ่งเกิดจากปัญหาการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดสมอง
เมื่อเกิดโรคหลอดเลือดสมองขึ้น หลอดเลือดที่นำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงสมองก็จะถูกอุดตันด้วยลิ่มเลือดหรือหากเป็นกลุ่มที่เป็นหลอดเลือดสมองแตก ก็เหมือนท่อส่งน้ำรั่วแตกนั้นเองค่ะ
โรคหลอดเลือดสมองส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการบาดเจ็บที่สมองและความบกพร่องของเครือข่ายประสาท (neural network) ว่ากระทบตรงส่วนไหน ทางเดินของประสาทสั่งการ/ประสาทรับความรู้สึกส่วนไหนผิดปกติไปบ้าง
ภาวะเพิกเฉยครึ่งซีกเป็นกลุ่มอาการที่มักเกิดขึ้นหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เป็นผลมาจากการบาดเจ็บที่สมองส่วนที่ทำให้เครือข่ายประสาทของ “การรับรู้ความสนใจเชิงพื้นที่” ลดลงและส่งผลต่อการใช้งานกล้ามเนื้อและการสัมผัสรับรู้ด้านที่เกี่ยวข้อง
ภาวะเพิกเฉยครึ่งซีก ไม่ยอมขยับเพราะว่าขี้เกียจ ?
ในผู้ป่วยที่ถนัดมือขวา ภาวะเพิกเฉยครึ่งซีกมักเกิดในร่างกายด้านซ้าย (ด้าน "ไม่ดี") มากกว่าการเพิกเฉยร่างกายครึ่งซีกขวา โดยด้านที่เพิกเฉยมักจะเป็นด้านเดียวกับแขนขาที่ได้รับผลกระทบ (ด้าน "ไม่ดี") หลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
ผู้ป่วยอาจพบว่า มีปัญหา ดังนี้
- ผู้ป่วยอาจประสบปัญหาในการหาวัตถุที่อยู่ด้าน "ไม่ดี" ของตน
- ผู้ป่วยอาจประสบปัญหาเดินชนประตูด้าน "ไม่ดี" ของตน
- ผู้ป่วยอาจรู้สึกลำบากในการอ่านป้ายหน้าประตู นาฬิกา พาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์ หรือเมนูอาหาร
- ผู้ป่วยอาจได้ยินคนพูดว่า ‘มองไปทางซ้ายสิ” “ระวังทางซ้ายสิ” อยู่บ่อยๆ แต่ไม่เข้าใจว่าทำไม
- ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการเตือนหลายครั้งต่อวันว่า ต้องดูแลแขนและขาที่อ่อนแรง เพราะผู้ป่วยไม่ได้สนใจว่ามีแขนขาข้างนั้นอยู่กับตัว จึงเป็นที่มาของคำว่า อาการ “เพิกเฉย” “ละเลย” นั่นเอง
นี่คือตัวอย่างของภาวะเพิกเฉยครึ่งซีกที่ผู้ป่วยและญาติจะพบได้ และควรเข้าใจเพื่อการดูแล ใส่ใจ และระมัดระวังที่ถูกต้องมากขึ้น
เนื่องจาก ผู้ป่วยอาจเกิดอุบัติเหตุกับร่างกายซีกนั้นบ่อย เดินชนกระแทกแขนขาข้างที่ไม่ดี หรือกระทั่งการเดินข้ามถนน ที่ผู้ป่วยจะไม่รับรู้รถที่ขับมาทางด้านซ้าย หรือด้านที่ไม่ดีเลย !!
ปัญหาในชีวิตประจำวัน ในผู้ป่วยสโตรก ที่มีภาวะเพิกเฉยครึ่งซีก
หากญาติผู้ดูแลสังเกตว่าผู้ป่วยมีภาวะดังกล่าว อย่าลืมบอก ทีมแพทย์ พยาบาล หรือนักกายภาพฟื้นฟูที่ดูแลโรคหลอดเลือดสมองเกี่ยวกับอาการนี้ เพื่อที่จะรับการรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยได้นะคะ
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท