ผู้ป่วยมีเสมหะเยอะ อันตรายหรือไม่ ?

มีรายงานว่า ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี มีอัตราเสียชีวิตด้วยภาวะปอดติดเชื้อ จากการสำลัก (aspiration pneumonia) สูงถึงเกือบ 30%

เสมหะที่ค้างอยู่ในปอดเป็นแหล่งเพาะเชื้อที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ เกิดเป็นปอดอักเสบ หรือหากเสมหะคั่งค้างตามหลอดลม ก็จะเกิดหลอดลมอักเสบได้

การไอสำลักเล็กๆน้อยๆในผู้สูงอายุจึงอาจไม่ใช่เรื่องเล็กๆอีกต่อไป

ผู้ป่วยมีเสมหะเยอะ

ผู้สูงอายุบางท่านมี "การสำลักเงียบ" คือไม่มีอาการไอ กระแอม หรือสำลักให้เห็น แต่พบว่ามีเศษอาหารตกลงไปในหลอดลมอยู่ตลอด ทุกครั้งที่ทานอาหารหรือน้ำทางปาก

หากขาดความระมัดระวังและไม่ทราบว่ามีการสำลักอาหารหรือน้ำลงในทางเดินหายใจ ก็จะมีการสะสมของเศษอาหารและเชื้อโรคที่ตกลงไปในหลอดลมเป็นระยะๆ หากร่างกายแข็งแรงอาจพอกำจัดเชื้อโรคได้ดี แต่เมื่อการสำลักเศษอาหารเป็นเยอะขึ้น บ่อยขึ้น หรือภูมิคุ้มกันการกำจัดเชื้อโรคของร่างกายอ่อนแอลง

สุดท้าย ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ปอดอักเสบติดเชื้อ ซึ่งนำไปสู่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้

จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องจัดการ โดยพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของเสมหะก่อน

  • แพทย์จะตรวจร่างกาย เพื่อตรวจว่ามีความเสี่ยงในเป็นโรคปอดติดเชื้อหรือไม่
  • อาจมีการเอกซเรย์ปอดเพื่อดูว่ามีปอดอักเสบหรือไม่
  • ต้องได้ยาฆ่าเชื้อ ยาลดเสมหะหรือไม่ 

รวมไปถึงการหาสาเหตุที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการเกิดโรคปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบจากการสำลักอาหารตามมา

อย่างไรก็ตาม หากผู้สูงอายุมีอาการไข้ ไอมีเสมหะ หายใจลำบากหรือหอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก ซึมลง อาจเป็นสัญญาณอันตรายจากภาวะสำลักเงียบจนเกิดภาวะหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบติดเชื้อ ต้องหยุดป้อนอาหารทางปากและมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที

การช่วยเหลือเบื้องต้น เมื่อผู้สูงอายุสำลัก

  • หยุดรับประทานอาหารทันที และไม่ควรกลืนอาหารที่เหลือในปาก
  • จัดท่านั่งให้ก้มไปข้างหน้าเล็กน้อย หรือนอนตะแคงกึ่งคว่ำเพื่อให้เสมหะและอาหารไม่ตกลงสู่หลอดลม
  • นำอาหาร หรือฟันปลอม ที่อยู่ในปากออกให้หมด
  • ไม่ควรทำการล้วงคอเด็ดขาด เพราะอาจยิ่งดันอาหารนั้น ให้ตกลึกเข้าไปยังส่วนท้ายของคอหอย และจะนำออกยากขึ้น
  • ในกรณีที่มีอาการ เหนื่อยหอบ หายใจหิวอากาศ หน้าซีด ปากเขียวคล้ำ ต้องรีบพาพบแพทย์ทันที

บทความที่น่าสนใจ 


บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท