ไขข้อข้องใจ ปัญหาเสมหะเยอะ

ญาติผู้ป่วยหลายท่าน สอบถามหมอมาเรื่องผู้ใหญ่ที่บ้าน มีเสมหะเยอะ ไอกระแอมตลอดเวลา จึงใคร่สงสัยว่าเกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่ และจะจัดการกับปัญหาเสมหะนี้อย่างไร วันนี้หมอมาตอบคำถามไขความสงสัยให้ฟังค่ะ  

เสมหะหรือเสลด เป็นของเสียที่ถูกสร้างขึ้นในปอดและถูกขับออกมาผ่านทางปาก มักเกิดจากการติดเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไประคายเคืองที่หลอดลม

ปัญหาเสมหะเยอะ

ผู้ป่วยมีเสมหะเยอะ เกิดจากอะไร

1. ความเสื่อมถอยของร่างกาย

  • ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง พาร์กินสัน อัมพฤกษ์ อัมพาต สมองเสื่อม และผู้ป่วยติดเตียง มักพบปัญหาการขับเสมหะ อันเกิดจากการสั่งการของสมองในระหว่างการไอขับเสมหะ การควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการไอ ได้แก่ กระบังลม หน้าอก คอ ลิ้นนั้นเสื่อมถอยลง
  • ทำให้ไอได้ไม่แรงพอ จึงไม่สามารถไอขับเสมหะจากหลอดลม ไปยังคอ ไปยังปากออกมาได้

2. มีปัญหาการกลืนแล้วสำลักบ่อย

  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาการเคี้ยวกลืน จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร เนื่องจากผู้ป่วยมักเคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด หรือมีการกลืนที่ไม่สัมพันธ์กับการหายใจ ทำให้กลืนอาหารเกิดขึ้นในช่วงที่หายใจเข้า ซึ่งเป็นระยะที่ฝาปิดกล่องเสียงยังเปิดอยู่ อาหารจึงไหลตกเข้าไปสู่หลอดลม แทนที่จะไหลลงหลอดอาหารตามปกติ เศษอาหารที่ตกเข้าสู่หลอดลมนั้น จะทำให้เกิดการไอสำลัก เกิดเป็นเสลดเสมหะออกมานั่นเองค่ะ  
  • จะเห็นว่า ปัญหาเสมหะเยอะมักสัมพันธ์กับปัญหาการควบคุมอวัยวะในการเคี้ยวกลืนเช่นกัน

ผู้ป่วยบางรายหลังกลับจากโรงพยาบาลไป ยังจำเป็นต้องได้รับการดูดเสมหะอยู่บ่อยๆ ทุก 4-6 ชั่วโมง ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้ หมอจึงมักแนะนำให้รักษาปัญหาเรื่องเสมหะให้ดีก่อน จึงเริ่มทำการฝึกกลืนทางปาก เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนคือการสำลักอาหารลงหลอดลมและปอดนั่นเอง

3. ผู้ป่วยมีภาวะปอดอักเสบติดเชื้อ

  • หากผู้ป่วยมีไข้ ตัวร้อน ร่วมกับไอเสมหะเยอะ เสมหะเปลี่ยนสี ขุ่น เหลืองเขียว หรือมีอาการเหนื่อย ต้องใช้ออกซิเจนเสริม หรือใช้ระดับลิตรออกซิเจนที่สูงขึ้น ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน 

ผู้ป่วยมีเสมหะเยอะ อันตรายหรือไม่

เสมหะที่ค้างอยู่ในปอดเป็นแหล่งเพาะเชื้อที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ เกิดเป็นปอดอักเสบ หรือหากเสมหะคั่งค้างตามหลอดลม ก็จะเกิดหลอดลมอักเสบได้

จึงเป็นเรื่องเร่งด่วยที่ต้องจัดการ โดยพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของเสมหะก่อน

  • อาจมีการเอกซเรย์ปอดเพื่อดูว่ามีปอดอักเสบหรือไม่
  • ต้องได้ยาฆ่าเชื้อ ยาลดเสมหะหรือไม่ 

รวมไปถึงการหาสาเหตุที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการเกิดโรคปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบจากการสำลักอาหารตามมาค่ะ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ การไอสำลักเล็กๆน้อยๆในผู้สูงอายุจึงอาจไม่ใช่เรื่องเล็กๆอีกต่อไป

การดูแลผู้ป่วยที่มีเสมหะเยอะ

ในผู้ป่วยที่มีปัญหาในการขับเสมหะ นอกเหนือจากการฟื้นฟูสมรรถภาพการหายใจ วิธีการพื้นฐานในการระบายเสมหะ ที่สามารถทำได้โดยตัวเองหรือโดยผู้ดูแล ได้แก่ 

  • การจัดท่าระบายเสมหะ
  • การเคาะปอด
  • การสั่นปอดด้วยอุ้งมือหรือด้วยเครื่อง
  • การฝึกไอ

การจัดท่าระบายเสมหะ (postural drainage)

        เป็นการจัดท่าของผู้ป่วย เพื่อใช้แรงโน้มถ่วงของโลกในการระบายเสมหะออกมา มักทำร่วมกับการเคาะปอดและการสั่นปอด

การจัดท่าการระบายเสมหะในปอดมีหลายท่า ขึ้นกับตำแหน่งของเสมหะที่ค้างอยู่ในกลีบปอดแต่ละส่วน การเลือกท่าระบายเสมหะที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย จึงควรสอบถามหมอประจำตัวผู้ป่วยก่อน เพื่อเลือกท่าการระบายเสมหะที่เหมาะสม

       อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น สำหรับผู้ป่วยติดเตียงซึ่งมักจะนอนอยู่ในท่านอนหงาย มักพบเสมหะคั่งค้างที่กลีบปอดส่วนหลัง และส่วนยอดของปอดกลีบล่างได้บ่อย การจัดท่าระบายเสมหะจึงมักจัดเป็นท่านอนคว่ำ

การจัดท่าระบายเสมหะท่านอนคว่ำ

เริ่มจากจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ
>> จัดให้ศีรษะตะแคงข้าง
>> จากนั้นยกลำตัวขึ้นใช้หมอนรองใต้ท้อง และรองใต้ขาผู้ป่วย
>> จัดให้อยู่ในท่านี้ 15-20 นาที
การจัดท่าระบายเสมหะท่านอนคว่ำ

การเคาะปอด

        เป็นเทคนิคที่ช่วยระบายเสมหะที่ติดอยู่ตามเนื้อปอด และหลอดลมให้หลุดร่อน และระบายออกได้ง่ายขึ้น

วิธีการเคาะปอด 
-ใช้ผ้าขนหนูรองบริเวณที่จะเคาะปอด จากนั้นให้ทำมือเป็นอุ้งเหมือนรูปถ้วยเพื่อทำให้เกิดลมในอุ้งมือ
- ใช้มือ 2 ข้างเคาะสลับกัน โดยขยับข้อมือเคาะให้จังหวะสม่ำเสมอ ความถี่ประมาณ 2-3 ครั้งต่อวินาที ทำติดต่อกันประมาณ 3-5 นาที
การเคาะปอด

การสั่นปอด

เป็นเทคนิคที่ช่วยระบายเสมหะที่ติดอยู่ตามเนื้อปอด และหลอดลมให้หลุดร่อน และระบายออกได้ง่ายขึ้น มักทำร่วมกับการเคาะปอด โดยอาจใช้อุ้งมือของผู้ดูแล หรือโดยใช้เครื่องสั่นปอดก็ได้

ในบทความนี้ หมอจะขอแนะนำการสั่นปอดโดยไม่ใช้เครื่อง เพื่อความสะดวกในการนำไปใช้จริงที่บ้านนะคะ

วิธีการสั่นปอด
- เหยียดแขนทั้งสองข้างให้ตรง มือทั้งสองข้างทาบกับบริเวณที่ต้องการสั่นปอด รอผู้ป่วยเริ่มหายใจออก จากนั้นเกร็งแขนทั้งสองข้างให้เกิดการสั่นผ่านไปยังฝ่ามือ แล้วลงไปที่ทรวงอกของผู้ป่วย
- สั่นปอดประมาณ 3-5 นาที จึงเปลี่ยนท่า หรือเปลี่ยนบริเวณที่สั่นปอด
- หลังจากเคาะปอด หรือสั่นปอดแล้ว ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยไอขับเสมหะ เพื่อป้องกันเสมหะอุดกั้นบริเวณท่อหายใจส่วนต้นด้วย
วิธีการสั่นปอด

การฝึกไอ

  • ก่อนไอควรเริ่มด้วยการหายใจออกแบบพ่นลม ซึ่งเป็นการขับเสมหะที่อยู่ลึกๆ ให้ขึ้นมาอยู่ในคอ
  • เริ่มต้นจากท่านั่งโน้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อยหายใจเข้าทางจมูกแล้วอ้าปาก
  • พ่นลมหายใจทางปากอย่างรวดเร็ว 2 ครั้ง คล้ายการพูด ฮ่ะ ฮ่ะ! 
  • ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง จากนั้นหายใจเข้าลึกและเร็ว
  • ไอออกทางปาก 2 ครั้ง
  • แนะนำให้หายใจออกแบบพ่นลมหลายๆครั้ง ก่อนที่จะไอขับเสมหะออกมา เพื่อลดอาการเหนื่อยเนื่องจากไอติดต่อกัน

เสมหะที่ค้างอยู่ในปอดเป็นแหล่งเพาะเชื้อที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ เกิดเป็นปอดอักเสบ หรือหากเสมหะคั่งค้างตามหลอดลม ก็จะเกิดหลอดลมอักเสบได้ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วยที่ต้องจัดการ ไม่ควรละเลยการหาสาเหตุและการแก้ไข เนื่องจากอาจนำมาสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดจากโรคปอดอักเสบ อันตรายถึงเสียชีวิตได้ 

บทความที่น่าสนใจ 

 

บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท