เคล็ด(ไม่)ลับ ปรับพฤติกรรมการกลืน
วันนี้หมอขอมาแนะนำเทคนิกการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการกลืนสำหรับผู้สูงวัย เพื่อลดความเสี่ยงในการสำลักอาหาร
ช่วงสูงวัยเป็นช่วงวัยที่มีความเพลิดเพลินในชีวิต เพลิดเพลินกับผลงานที่สร้างมาตลอดช่วงชีวิตที่สะสมมาได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นช่วงวัยที่ต้องระมัดระวังสุขภาพของตนเองหลายๆด้านมากขึ้น เพราะร่างกายอาจไม่ได้ทำงานสมบูรณ์เหมือนเดิม
ยิ่งโดยเฉพาะการกลืน ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญในการบริโภคอาหารและน้ำ ถ้าผู้สูงอายุมีปัญหาการกลืน จะทำให้การบริโภคอาหารและน้ำลดลง นอกจากนี้ ผู้สูงอายุอาจสำลักได้ง่าย
การสำลักเศษอาหาร ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (การสำลักเงียบ) เข้าไปในทางเดินหายใจ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในปอดได้ ปัญหาการกลืนจึงเป็นปัญหาเร่งด่วน ไม่ควรละเลย ต้องรีบไปพบแพทย์และนักกิจกรรมบำบัด เพื่อประเมินสภาพการกลืนและให้คำแนะนำในการดูแล
การกลืนในผู้สูงอายุ
ในผู้สูงวัยที่แข็งแรง การกลืนไม่ได้เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เพียงแค่ต้องมีการปรับเปลี่ยน เช่น
- พักผ่อนก่อนเริ่มมื้ออาหาร ไม่รีบร้อนทานเร็วๆ
- นั่งตัวตรง 90 องศา ขณะรับประทานอาหาร
- เลือกอาหารที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารที่แข็ง แห้ง หรือมีเม็ด เพื่อให้การเคี้ยวและการกลืนได้ง่ายขึ้น และลดความเสี่ยงในการสำลัก
- กัดอาหารคำเล็ก ๆ หรือหั่นอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนนำเข้าปาก
- ปรับลักษณะการรับประทานอาหาร ไม่ควรพูดคุยขณะกินข้าว ไม่ดูโทรทัศน์หรือทำกิจกรรมอื่นๆช่วงทานอาหาร
- รับประทานอาหารให้เสร็จ แล้วค่อยดื่มน้ำ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับหรือยาที่มีผลลดน้ำลาย ทำให้น้ำลายแห้ง เพราะจะทำให้การคลุกเคล้าของอาหารในปากแย่ลง
- พบทันตแพทย์เป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคในช่องปาก ในกรณที่เกิดการไอสำลัก โอกาสในการเกิดปอดอักเสบติดเชื้อจากช่องปากย่อมจะลดลง
ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการกลืนรุนแรงอาจจำเป็นต้องใส่สายยางให้อาหารเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงต่อการสำลัก หรือการรับประทานทางปากเพียงอย่างเดียวอาจจะทำให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารน้ำ และยาไม่เพียงพอ
ผู้สูงวัยที่ต้องใช้สายยางให้อาหาร
ในกลุ่มผู้สูงวัยที่ต้องใช้สายยางให้อาหารก็มีหลายเทคนิคที่สามารถป้องกันการสำลักอาหาร ได้แก่
- จัดท่าทางให้นั่งตรง หรือไขหัวเตียงขึ้นสูงประมาณ 45 องศา ก่อนที่จะเริ่มให้อาหารทางสายยาง
- หันมาใช้เครื่องให้อาหารทางสายยางแบบดริป (feeding pump) เพื่อควบคุมอัตราการไหลไม่ให้เร็วเกินไป อันนำมาซึ่งความเสี่ยงในการสำลักอาหารได้ เป็นต้น
หมอเชื่อว่า...ถ้าผู้สูงอายุลองนำเทคนิคข้างต้นไปใช้ ตามคำแนะนำเหล่านี้ จะช่วยให้กลืนได้ปลอดภัยและสบายใจปราศจากการสำลักค่ะ
บทความที่น่าสนใจ
- ไขข้อข้องใจ ปัญหาเสมหะเยอะ
- ปัญหาผู้ป่วยมีเสมหะเยอะ เกิดจากอะไร?
- ผู้ป่วยมีเสมหะเยอะ อันตรายหรือไม่?
- เทคนิคดูแลผู้ป่วยเสมหะเยอะ&วิธีทำกายภาพขับเสมหะ
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท