วิธีจัดการปัญหา "ท้องผูก ปวดแน่นท้อง"ในผู้ป่วยโรคสโตรก
ญาติผู้ดูแลหลายท่านสอบถามเกี่ยวกับการดูแลเรื่องอุจจาระเวลาขับถ่ายในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง บ้างก็ถ่ายไม่ออก บ้างก็ถ่ายเหลว
วันนี้หมอขอมาสรุปเกร็ดความรู้สั้นๆ และวิธีจัดการรับมือให้ผู้ดูแลสามารถนำไปประยุกต์ใช้กันได้ที่บ้านค่ะ
ผู้ป่วยทางระบบประสาทบางส่วนต้องประสบกับปัญหาการทำงานของระบบทางเดินอาหารและระบบการขับถ่ายที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระออกมา (อุจจาระเหนียวแข็ง, อุจจาระติด) หรือไม่สามารถกลั้นอุจจาระไว้ได้ (อุจจาระเล็ดราด)
เกิดจากอะไร?
สาเหตุเกิดจากรอยโรคในระบบประสาทไม่ว่าระดับสมอง ไขสันหลัง หรือเส้นประสาทที่ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติ และการควบคุมกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักเสียไป สามารถพบเห็นได้ในโรคหลายโรค เช่น ไขสันหลังอัมพาต (SCI) สมองได้รับบาดเจ็บ หลอดเลือดตีบหรือแตก โรคพาร์กินสัน หรือแม้กระทั่งโรคที่พบได้ทั่วไป เช่น เบาหวานนั่นเอง
ญาติผู้ดูแล สามารถรับมือกับปัญหานี้ได้เอง โดยเข้าใจการวางโปรแกรมการจัดการอุจจาระ ที่ทำเองได้ที่บ้าน เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดตามมาจากภาวะท้องผูก เช่น ท้องอืดแน่น อาการปวดท้อง รับประทานอาหาร หรือรับฟีดทางสายยางไม่ได้ หรือแย่กระทั่งลำไส้อักเสบหรือทะลุได้
วิธีการจัดการง่ายๆ
- การจัดการโภชนาการและน้ำ
- กิจกรรมกายภาพ
- ยาทางปาก
- ยาทางทวารหนัก
- การดูแลฝึกให้ผู้ป่วยอุจจาระตามตารางที่กำหนดไว้
- วิธีการสวนอุจจาระที่ถูกต้อง
ผู้ป่วยควบคุมอุจจาระได้ สามารถบอกความรู้สึกปวดอุจจาระได้ (Reflexic Bowel) |
ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมอุจจาระได้ ไม่สามารถบอกความรู้สึกปวดอุจจาระได้ (Areflexic Bowel) |
ดื่มน้ำและทานอาหารที่มีกากใยเพียงพอ |
ดื่มน้ำและทานอาหารที่มีกากใยเพียงพอ |
หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ |
หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ |
กำหนดตารางขับถ่ายอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ |
กำหนดตารางขับถ่ายอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน |
เป้าหมายลักษณะอุจจาระเป็นลำนุ่ม (soft formed ตาม Bristol stool scale 4) เพื่อให้ถ่ายออกได้ง่าย |
เป้าหมายลักษณะอุจจาระเป็นก้อนยาว ไม่นุ่มหรือแข็งจนเกินไป (sausage shape with cracked ตาม Bristol stool scale 3) เพื่อให้สามารถกลั้นอุจจาระได้ง่าย ไม่ไหลเล็ดเปราะเปื้อนตลอด |
สามารถใช้ยาระบาย (stimulant laxatives) ร่วมด้วยได้ โดยควรรับประทานก่อน 8-12 ชั่วโมงก่อนการขับถ่าย |
ไม่จำเป็นต้องใช้ยาระบาย หรือยาสวนในกรณีทั่วไป |
ใช้วิธีกระตุ้นทวาร/ไส้ตรง(digital stimulation)หรือการใช้นิ้วล้วงอุจจาระออก (digital evacuation) ร่วมด้วยได้ |
สามารถใช้นิ้วช่วยล้วงอุจจาระออก (digital evacuation) ได้ เเต่ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเพิ่ม |
ในผู้ป่วยที่สามารถควบคุมอุจจาระได้
ผู้ป่วยสามารถบอกความรู้สึกปวดอุจจาระได้ (Reflexic Bowel)
- ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการช่วยเหลือให้อุจจาระนุ่ม เพื่อขับถ่ายออกง่าย ไม่ต้องใช้แรงเบ่งอุจจาระมาก สามารถให้ยาถ่าย กลุ่มFiber หรือเน้นการทานอาหารที่มีกากใยสูง ช่วยอุ้มน้ำไว้ในก้อนอุจจาระ จะทำให้ขับถ่ายง่าย ลดการเกิดรอยเเผลเจ็บที่รูทวารหนักเนื่องจากอุจจาระเหนียวแข็งได้
- การจัดท่าเพื่อช่วยถ่ายก็มีความสำคัญ โดยควรจัดท่าให้ผู้ป่วยนั่งตรง หรือนอนตะแคง เพื่อให้ลำไส้ตรงส่วนปลาย สามารถขับอุจจาระออกมาได้สะดวกมากขึ้น
- หากขณะถ่ายอุจจาระออกยาก หรือถ่ายไม่สุด ผู้ดูแลสามารถใช้วิธีกระตุ้นทวาร (digital stimulation) หรือการใช้นิ้วล้วงอุจจาระออก (digital evacuation) ร่วมด้วยได้
ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมอุจจาระได้
ผู้ป่วยไม่สามารถบอกความรู้สึกปวดอุจจาระได้ (Areflexic Bowel)
- ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาระบาย หรือยาสวนในกรณีทั่วไป อาจเพียงช่วยกระตุ้นในขณะเริ่มการขับถ่าย (Manual evacuation) สามารถใช้นิ้วช่วยล้วงอุจจาระออก (digital evacuation) ได้
- ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจจจะขับถ่ายบ่อย เนื่องจากปัญหาหลักคือไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้ ดังนั้นวิธีจัดการที่ดี ที่หมอแนะนำคือ พยายามทานอาหารกากใยสูง หลีกเลี่ยงการทานนม หรือ อาหารน้ำตาลสูงที่จะทำให้ถ่ายออกมาเป็นอุจจาระเหลว เนื่องจากอาจขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละท่านเองด้วยว่าอาหารใดในผู้ป่วยรายใด ทำให้ถ่ายออกมาเป็นเนื้อเหลวมากขึ้น ญาติผู้ดูแลสามารถสังเกตตรงจุดนี้เองได้ เช่นเวลาเปลี่ยนสูตรอาหารฟีด หรือเปลี่ยนยี่ห้อนมเสริมแล้ว ผู้ป่วยถ่ายเหลวมากขึ้น ก็อาจทำให้อุจจาระไหลเยอะ เลอะเปรอะได้มากขึ้น ดูแลรับมือลำบากขึ้น ก็ต้องคอยสังเกต อาจเปลี่ยนเป็นสูตรอื่นที่เหมาะสมกว่า เป็นต้นค่ะ
อาหารที่ทาน, ปริมาณน้ำที่เหมาะสม, กิจกรรมและยาช่วยถ่าย ล้วนเป็นองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับลักษณะพฤติกรรมการขับถ่ายของบุคคลๆหนึ่ง ของผู้ป่วยก็เช่นกัน การปรับเปลี่ยนปัจจัยดังกล่าว อย่างเป็นระบบ หมายถึงค่อยๆปรับเปลี่ยนไปทีละอย่าง แล้วสังเกตการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น เพื่อค้นหาวิธีการดูแลที่เหมาะสมสำหรับบุคคลที่เรารัก ในแบบฉบับของเราเอง เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการดูแลการขับถ่ายให้ดี ป้องกันภาวะท้องอืด ปวดท้อง เป็นแผลที่รูทวารหนัก หรือลำไส้อุดตันไว้ล่วงหน้าค่ะ
หมอใส่รูปลักษณะอุจจาระแต่ละแบบ อ้างอิงจาก Bristol stool scale มาให้ท้ายนี้ เผื่อเวลาไปเล่าปัญหาให้คุณหมอผู้ดูแลฟัง จะได้คุยกันเห็นภาพค่ะ บางทีบอกว่าอุจจาระเหลว ก็ไม่รู้ว่าเหลวแค่ไหน คุยกันไม่สื่อความ สามารถใช้ภาพนี้ในการช่วยสื่อความหมายให้ตรงกันได้นะคะ
อ่านเพิ่มเติม >>
- เทคนิคการดูแลการขับถ่ายผู้ป่วยติดเตียง-ป้องกันแผลกดทับ
- แค่ปรับอาหารก็ถ่ายออกง่ายแล้ว...Gastrocolic reflex ตัวช่วยเรื่องท้องผูก ด้วยระบบร่างกายตนเอง
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท
Reference
- Consortium for Spinal Cord Medicine Clinical practice guidelines: Management of Neurogenic Bowel Dysfunction in Adults after Spinal Cord Injury. 2020. https://pvacf.org/wp-content/uploads/2020/10/CPG_Neurogenic-Bowel-Recommendations.single-6.pdf. Accessed March 28, 2021.
- https://www.mascip.co.uk/wp-content/uploads/2015/02/CV653N-Neurogenic-Guidelines-Sept-2012.pdf