การกำจัดกลิ่นฉี่ กลิ่นไม่พึงประสงค์ในการดูแลผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียง
การกำจัดกลิ่นปัสสาวะ กลิ่นฉี่ กลิ่นไม่พึงประสงค์ในการดูแล ผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียง เป็นปัญหาที่ผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียงมักพบเจอ หลายบ้านมีปัญหากลิ่นฉี่ กลิ่นไม่พึงประสงค์ในห้องนอนผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียง ทำให้บ้านบรรยากาศไม่ดี กลิ่นไม่สะอาด ไม่น่าพักอาศัย
อันดับแรก หมอขอแนะนำให้ ลองพิจารณาสาเหตุ ดัง 4 ข้อที่พบบ่อยดูก่อน หากพบสาเหตุ ญาติผู้ดูแลจะได้จัดการกับปัญหาได้ตรงจุด
เช่น หากผู้ป่วยไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ หรือไม่สามารถบอกได้ว่าปวดปัสสาวะ อาจใช้วิธี ใส่แพมเพิส และกำหนดเวลาเปลี่ยนแพมเพิสตามรอบเวลา เช่น ทุก 6 ชั่วโมง ก่อนเข้านอน เป็นต้น ปัสสาวะจะได้ไม่เปียกแพมเพิสและส่งกลิ่นเหม็นอับติดตัวผู้ป่วย และห้องนอน ส่งกลิ่น สร้างบรรยากาศที่ไม่พึงประสงค์ในบ้านค่ะ
เนื่องจากที่โรงพยาบาลมีการฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพ การรักษาความสะอาดที่เป็นระบบ น้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ได้มาตรฐานทำให้สามารถกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์เหล่านี้ได้ แต่เราที่ดูแลผู้ป่วยเองที่บ้านก็สามารถกำจัดกลิ่นอับเหม็นพวกนี้ได้เช่นกัน
โดยมีเคล็ดลับเล็กๆน้อยๆที่นำมาตรฐานของโรงพยาบาลมาประยุกต์ใช้ในบ้านกันให้ทุกคนแบ่งปันไปใช้ได้ค่ะ
เลือกอ่าน...
- วิธีการจัดบ้าน/จัดห้องให้ผู้ป่วย
- อุปกรณ์ที่หาซื้อมาเป็นตัวช่วยได้
- วิธีทำความสะอาดผ้ายางรองเตียง
- วิธีทำความสะอาดหากปัสสาวะเกิดซึมเปื้อนลงไปถึงเตียง
การจัดห้องให้ผู้ป่วย
- ห้องผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ ควรเน้นจัดห้องให้อากาศถ่ายเทได้ดี ระบายอากาศให้โปร่งสบาย อาจใช้วิธีการเปิดหน้าต่าง ประตูในเวลากลางวัน เพื่อรับแสงแดดอ่อนๆ รับลมสบายๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยระบายกลิ่นอับต่างๆ การรับแสงแดง ได้ยินเสียงธรรมชาติภายนอกสำหรับผู้สูงอายุยังช่วยป้องกันภาวะสับสน เพ้อ ในผู้สูงอายุได้อย่างดีเลยค่ะ
- ติดมุ้งลวดเพื่อกันสัตว์และแมลง อย่างไรก็อย่าลืมใส่ใจในความปลอดภัย โดยเฉพาะในผู้ป่วยมีภาวะหลงลืม หรือความจำเสื่อม ต้องระมัดระวังผู้ป่วยที่จะลุกเดินออกจากห้อง ออกจากบริเวณบ้านไปก็เป็นสิ่งที่หมออยากขอให้ระมัดระวังด้วย
- เปิดพัดลมหรือแอร์ เพื่อลดความร้อนและเหม็นอับ ช่วยระบายกลิ่นอับไม่พึงประสงค์
- กำจัดขยะและของเสียที่ไม่ใช้แล้วให้ออกจากบ้าน อย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง ไม่ให้หมักหมมเป็นแหล่งกำเนิดกลิ่นไม่พึงประสงค์
อุปกรณ์ตัวช่วย
ญาติหลายท่านคงเคยประสบกับปัญหากลิ่นเหม็นอับ หรือมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่เตียงผู้ป่วย ทำให้สภาพแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วยดูไม่สดชื่น อับชื้น บางครั้งก็กลายเป็นกลิ่นติดตัวคนไข้ ทำให้คนใกล้ชิดเบือนหน้าหนีไม่อยากเข้าใกล้ วันนี้หมอขอเสนอตัวช่วย
อุปกรณ์ตัวช่วยที่สามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาหรือร้านขายอุปกรณ์การแพทย์ทั่วไป ของพวกนี้ราคาไม่แพงค่ะ ลองนำไปใช้ที่เตียงผู้ป่วยกันนะคะ
1. ผ้ายางแบบขวาง กันน้ำ กันปัสสาวะรดซึม
- ปูผ้ายาง-ผ้าขวางรองบนเตียงนอนแบบที่ใช้ในโรงพยาบาล ปูชั้นล่าง ก่อนปูผ้าปูเตียงทับ เพื่อให้ง่ายต่อการล้างทำความสะอาด และปัสสาวะไม่ซึมลงไปในตัวฟูกหรือที่นอน
2. ผ้าปูเตียงแบบกันน้ำทั้งผืน
- เป็นอีกตัวเลือกที่แนะนำ อาจเลือกใช้ผ้าปูเตียงแบบกันน้ำทั้งผืน รองเป็นชั้นแรก แล้วจึงปูผ้าปูเตียงธรรมดาทับอีกที
3. ปลอกหนังสังเคราะห์หุ้มฟูกเดิม
- วิธีนี้อาจยุ่งยากหน่อย แต่เป็นวิธีที่ตามโรงพยาบาลใช้กันบ่อยคือใช้เป็นหลอกหนังหุ้มฟูกทั้งหลังเลย
- หรืออาจซื้อฟูกสำหรับคนไข้ที่หุ้มด้วยวัสดุกันน้ำก็ได้ทั้งหลังเลยก็ได้เช่นกัน
วิธีทำความสะอาดผ้ายาง ผ้าปูเตียงแบบกันน้ำ
ขั้นตอนการทำความสะอาดผ้ายาง ผ้าปูเตียงแบบกันน้ำที่สกปรก ดังนี้
- กางผ้ายางออกบนราวตากผ้าแล้วฉีดน้ำชะล้าง
- ใช้น้ำยาทำความสะอาดพื้นผิวฉีดทิ้งไว้ประมาณ 30-60นาที
- ฉีดล้างน้ำเปล่าอีกรอบ
- ตากแดดให้แห้ง
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
การใส่ใจกับการซักล้างเมื่อเปรอะเปื้อนควรกำหนดตารางทำความสะอาดเป็นประจำ
- ควรเปลี่ยนทุกวัน และหากเป็นไปได้ แนะนำให้ซักทุกวัน นำไปตากแดดจัดทุกวันเลย
- เพราะการหมักหมมไว้ซักทีเดียววันสุดสัปดาห์เชื้อโรคก็จะก่อตัวสะสมมากขึ้น สร้างกลิ่นอันไม่พึงประสงค์อยุ่ในตัวบ้านตลอดเวลาจนสุดสัปดาห์เช่นกัน
วิธีทำความสะอาดหากน้ำปัสสาวะเกิดซึมเปื้อนลงไปถึงฟูกเตียง
จากประสบการณ์การกำจัดกลิ่นฉี่บนที่นอนในผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียงมีหลากหลายเทคนิกให้ลองนำไปใช้กัน ดังนี้
- การใช้ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์กำจัดกลิ่นต้องใช้ร่วมกับ แอมโมเนีย เบกกิ้งโซดา ผงซักฟอกเล็กน้อย ขั้นตอนในการดับกลิ่นจากไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ไม่ยุ่งยากเลย
- เริ่มจาก "การใช้น้ำอุ่นเทลงไปบนคราบฉี่เพื่อฆ่าเชื้อโรค จากนั้นให้นำแอมโมเนีย 2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำ 1 ถ้วย แล้วเช็ดคราบบนที่นอนให้ออกได้มากที่สุด จากนั้นผสมไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ 1 ถ้วย เบกกิ้งโซดา 3 ช้อนโต๊ะ ผงซักฟอกเล็กน้อย ใส่กระบอกฉีดแล้วนำไปฉีดบริเวณที่มีคราบ ทิ้งไว้ให้แห้ง"
- *จะให้ได้ผลดีเมื่อไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ที่ฉีดลงไปแห้งแล้ว*
- ควรซักที่นอนเฉพาะจุดนั้นด้วยน้ำยาซักแห้ง แชมพู หรือผงซักฟอกก็ได้ จากนั้นก็ใช้ผ้าขนหนูซับน้ำออกให้หมดแล้วทิ้งไว้จนแห้ง ขั้นตอนสุดท้ายคือการนำที่นอนไปตากแดดอีกครั้ง หรือเปิดผ่าม่านให้แสงแดดส่องเข้ามาถึงที่นอน เพียงเท่านี้ก็สามารถดับกลิ่นฉี่บนที่นอนได้
6. การใช้น้ำยาทำความสะอาดและขจัดกลิ่น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นวิธีดับกลิ่นฉี่บนที่นอนซึ่งสามารถทำได้ง่ายที่สุด เมื่อท่านพบว่ายังมีกลิ่นฉี่หลงเหลืออยู่ ทุกท่านอาจจะใช้ น้ำยาทำความสะอาด หรือน้ำยาขจัดกลิ่น วิธีการนี้เพียงแค่ใช้กระดาษทิชชู่ หรือผ้าขนหนูซับคราบฉี่ให้แห้ง จากนั้นฉีดสเปรย์ทำความสะอาด และกำจัดกลิ่นลงไป แต่ที่ลืมไม่ได้คือต้องเปิดหน้าต่างเพื่อให้กลิ่นอับสามารถระบายออกไปได้ด้วย จะใช้พัดลมช่วยเป่าด้วยก็ได้ เมื่อที่นอนแห้งกลิ่นฉี่บนที่นอนก็จะหายไปด้วย
การดับกลิ่นปัสสาวะ กลิ่นฉี่บนที่นอนรวมไปถึงคราบต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าจะจัดการด้วยตัวเอง ซึ่งการดับกลิ่นฉี่บนที่นอนนั้นสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับความสะดวก และความเหมาะสม แต่ข้อสำคัญของวิธีดับกลิ่นฉี่บนที่นอนนั้นต้องพยายามทำให้ที่นอนแห้งที่สุดหลังการทำความสะอาด ด้วยการนำที่นอนที่ทำการดับกลิ่นแล้วไปตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อ
คราบปัสสาวะ หากทิ้งไว้ ไม่ทำความสะอาด จะทำให้คราบเหล่านั้นฝังลึกลงไป ยิ่งทำให้ทำความสะอาดยากมากขึ้น ฉะนั้นเมื่อเกิดคราบจึงควรรีบทำความสะอาดทันที เพื่อให้ที่นอนคุณสะอาด ปราศจากคราบสกปรกต่างๆ
สรุปส่งท้าย...
อ่านเพิ่มเติม
- 4 สาเหตุ! ทำไมผู้สูงวัยถึงปัสสาวะรดที่นอน?
- เข้าใจปัญหาการขับปัสสาวะของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองไปตามสเต็ป
- การดูแลสายสวนปัสสาวะผู้ป่วย
- แก้ปัญหา-ท้องผูกในผู้ป่วยสูงวัยและผู้ป่วยติดเตียง
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท