รู้ทัน!! อาการผิดปกติที่พบบ่อยในผู้ป่วยรับอาหารทางสายยาง (ฉบับเต็ม)

อาการผิดปกติที่พบได้บ่อยและต้องเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับอาหารทางสายยาง (เผยสาเหตุพร้อมวิธีการป้องกันและแก้ไข)

อาการผิดปกติที่พบบ่อยในผู้ป่วยรับอาหารทางสายยาง

กระบวนการย่อยอาหารของมนุษย์นั้นเกิดจากหลายกระบวนการร่วมกัน การเคลื่อนที่ของอาหารจากปากจนสู่ลำไส้ส่วนปลายนั้น เกิดโดยกระบวนการเพอริสทอลซิส (peristalsis) เป็นการบีบตัวของกล้ามเนื้อเป็นคลื่นๆ ของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กอย่างเป็นจังหวะ เพื่อดันให้อาหารเคลื่อนที่ไหลไปตามระบบทางเดินอาหารจากปากถึงลำไส้ใหญ่

  • หลังภาวะความเจ็บป่วย ผู้ป่วยจะมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง เนื่องด้วยความอ่อนเพลียจากความเจ็บป่วย ความเจ็บปวดบริเวณแผลผ่าตัด ในช่วงพักฟื้น ทำให้การเคลื่อนที่ของลำไส้แบบคลื่นดังกล่าวทำได้ลดลง
  • เมื่อการบีบตัวส่งอาหารจากส่วนต้นไปส่วนปลายทำได้แย่ลง กระบวนการย่อยที่ปกติก็ย่อมไม่สามารถเกิดได้ตามปกติเช่นกัน

ภาวะที่อาหารไม่ย่อยหรือย่อยได้ไม่สมบูรณ์ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการไม่สุขสบาย อึดอัดแน่นท้อง บางครั้งหายใจไม่สะดวก ปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่และเหนื่อยง่าย

ผู้ป่วยบางรายมีภาวะท้องอืดมากจนนอนราบไม่ได้ทำให้นอนไม่หลับหรือนอนหลับได้ไม่เพียงพอ นอกจากนั้นภาวะท้องอืดยังส่งผลต่ออารมณ์ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหงุดหงิด มีอารมณ์ขุ่นมัว

ส่งผลถึงสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นรอบตัวอีกด้วย และหากมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง ปวดเกร็งคล้ายมีการบีบรัด (colicky pain)และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

ภาวะที่อาหารไม่ย่อย

ภาวะแทรกซ้อนหรืออาการผิดปกติที่มักจะพบได้บ่อยในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับอาหารทางสายยาง

คือปัญหาการย่อยและการขับถ่าย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่ผู้ดูแลต้องคอยสังเกตและเฝ้าระวัง เนื่องจากหากประสบปัญหาดังกล่าวแล้วปล่อยไว้เรื้อรังอาจทำให้เกิดอันตราย ท้องอืด ท้องผูกเรื้อรัง เกิดภาวะลำไส้โป่งพอง ลำไส้บิดเกลียว หรือาจนำไปสู่ภาวะติดเชื้อในช่องท้องหรือกระแสเลือดได้ในที่สุด

วันนี้หมอจะมาแนะนำปัญหาที่พบได้บ่อย ในผู้ป่วยที่รับอาหารทางสายยาง พร้อมอธิบายสาเหตุ และวิธีป้องกัน แก้ไข เพื่อที่ญาติผู้ดูแลจะสามารถนำไปเฝ้าระวังและปรับใช้กับผู้ป่วยได้ทันท่วงทีค่ะ

5ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่รับอาหารทางสายยาง

  1. ภาวะท้องอืดหรือแน่นท้องหลังได้รับอาหารทางสายยาง
  2. อาการคลื่นไส้อาเจียน
  3. อาการท้องเสีย 
  4. อาการท้องผูก
  5. อาการสำลักขณะหรือหลังให้อาหารทางสายยาง

1. ภาวะท้องอืดหรือแน่นท้องหลังได้รับอาหารทางสายยาง

ภาวะท้องอืดหรือแน่นท้องหลังได้รับอาหารทางสายยาง

ภาวะท้องอืดหรือแน่นท้องหลังได้รับอาหารทางสายยางอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ 

สาเหตุที่พบบ่อย

  • ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ทำให้การเคลื่อนที่ของลำไส้แบบคลื่นดังกล่าวทำได้ลดลง
  • ผู้ป่วยได้รับปริมาณอาหารที่มากเกินไป 
  • ผู้ป่วยได้รับยาระงับปวดในกลุ่ม narcotic drug รวมถึงยาหลายชนิดที่มีผล Anticholinergic ยกตัวอย่างเช่น ยาทรามาดอล ยามอร์ฟีน ยาทางจิตเวช และยานอนหลับบางประเภท เป็นต้น
  • ความไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโปแตสเซียมในกระแสเลือดต่ำ (hypokalemia) จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของลําไส้ลดลง ลําไส้ไม่ทํางาน การบีบรูดของลําไส้ลดลง เป็นต้น
  • ผู้ป่วยสูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มักจะมีปัญหาในการย่อยอาหาร เนื่องจาก ระบบประสาท sympathetic ทำงานได้ลดลง การกระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลําไส้จึงลดลง ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะท้องอืดสูงขึ้น

วิธีการป้องกันและแก้ไข

  • ตรวจสอบปริมาณอาหารว่าเหมาะสมกับผู้ป่วยหรือไม่
    • หากผู้ป่วยได้รับปริมาณอาหารที่มากเกินไป ควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการในการปรับสูตรอาหารของผู้ป่วยให้เหมาะสมต่อความต้องการพลังงานในแต่ละวันของผู้ป่วย 
  • หากเป็นผู้ป่วยที่ได้รับอาหารทางสายยางในมื้อก่อนหน้ามาก่อน ให้ดูดทดสอบปริมาณของเหลวที่เหลือค้างในกระเพาะอาหาร 
    • ถ้าปริมาณของเหลวเหลือค้าง 200 มิลลิลิตร จึงให้อาหารมื้อถัดไปตามปกติได้ โดยมีการเฝ้าระวังและสังเกตอาการผิดปกติอย่างใกล้ชิด หากมีอาการปวดท้อง ท้องอืดมาก คลื่นไส้ อาเจียน ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล เพื่อสืบค้นสาเหตุของปัญหาดังกล่าว
    • โดยของเหลวที่เหลือค้างในกระเพาะอาหารที่ดูดออกมาควรใส่กลับคืนทั้งหมด โดยปริมาณไม่ควรเกิน 200-300 มิลลิลิตร
    • หากของเหลวเกิน 200-300 มิลลิลิตรต้องหยุดให้อาหารทางสายยางชั่วคราวและปรึกษาแพทย์
  • การออกกำลังกาย
    • พยายามให้ผู้ป่วยได้ขยับเคลื่อนตัวบ่อยๆ ลุกนั่ง ทำกิจกรรมบ่อยๆ จะช่วยให้การเคลื่อนตัวของลำไส้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น
    • ผู้ดูแลควรแนะนํา อธิบายให้ผู้ป่วยเห็นถึงประโยชน์ของการเคลื่อนไหวและลุกเดินได้เร็วหลังภาวะความเจ็บป่วย (early ambulation) เมื่อสภาพร่างกายพร้อมและเหมาะสม เช่น กระตุ้นให้ทำการพลิกตัว การออกกําลังขา การลุกนั่งด้วยตนเอง เป็นต้น
    • การลุกจากเตียงได้เร็วหลังนอนโรงพยาบาล จะช่วยกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวของลำไส้และช่วยขับแก๊สออกจากทางเดินอาหาร ทำให้ลดภาวะท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้องได้อย่างดี 
  • แก้ไขภาวะท้องผูก อันจะทำให้เกิดภาวะท้องอืด แน่นท้องร่วมด้วย
    • ผู้ดูแลอาจพิจารณาใช้ยาระบาย (stimulant laxative) เช่น dulcolax เป็นยาระบายที่ออกฤทธิ์ให้เกิดการเคลื่อนไหวแบบบีบรูด และการหลั่งน้ำย่อยเพิ่มมากขึ้น ช่วยให้มีการขับถ่ายอุจจาระ
    • โดยวิธีการใช้ยาระบายอาจให้โดยการรับประทานหรือใช้เหน็บทางทวารหนักก็ได้ 

การรักษาด้วยยา

การรักษาด้วยยาตามแพทย์แนะนำ ได้แก่ 

  • ยาขับลม เช่น carminative จะออกฤทธิ์กระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนไหวแบบบีบรูดมากขึ้น ช่วยในการขับแก๊สออกมาจากลำไส้ใหญ่ 
    • ยาขับลมในกลุ่ม simethicone เช่น Air-x ช่วยลดอาการอืดแน่นท้องโดย ทำให้ผู้ป่วยเรอขับลมหรือผายลมได้สะดวกขึ้น
  • ยาลดกรด antacid เป็นยาที่มีฤทธิ์เป็นด่างปานกลาง โดยทำปฏิกิริยากับกรดเกลือในกระเพาะอาหาร ช่วยลดปริมาณของกรดที่จะทำปฏิกิริยากับ bicarbonate ที่มีอยู่ในน้ำย่อยทำให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง ช่วยผ่อนคลายอาการแน่นอึดอัดท้อง

2. อาการคลื่นไส้อาเจียน

อาการคลื่นไส้อาเจียน

อาการคลื่นไส้อาเจียนอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ 

สาเหตุที่พบบ่อย 

  • เกิดจากภาวะท้องอืดหรืออาหารมื้อก่อนหน้าไม่ย่อย
  • เกิดจากภาวะท้องผูก
  • เกิดจากตำแหน่งของปลายสายยางให้อาหารไม่อยู่ในกระเพาะอาหาร อาจอยู่สูงขึ้นมา ส่งผลให้อาหารเหลวที่รับเข้าไปในตัวผู้ป่วยไหลท้นออกมาได้ 

วิธีการป้องกันและแก้ไข

  • วิธีแก้ไขที่ง่ายที่สุด เบื้องต้นคือเช็คว่าผู้ป่วยนั้นมีภาวะท้องอืดและท้องผูกอยู่หรือไม่
  • ก่อนเริ่มให้อาหารทางสายยาง ต้องทำการตรวจสอบตำแหน่งของปลายสายยางให้อาหารโดยต่อหัวกระบอกให้อาหาร (Syringe feeding) เข้ากับรูเปิดของสายให้อาหารโดย สำรวจให้กระชับและแน่น แล้วค่อยๆดูด
    • หากตำแหน่งถูกต้องจะพบมีน้ำย่อยหรืออาหารที่กำลังย่อย
    • หากไม่พบต้องตรวจสอบโดยการฟังเสียงของอากาศ โดยดันลมประมาณ 15-20 มิลลิลิตรผ่านกระบอกให้อาหาร ผ่านต่อไปยังสายยางให้อาหาร เข้าไปในกระเพาะอาหารอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการทดสอบตำแหน่งของสายให้อาหารว่ายังอยู่ถูกต้องในกระเพาะอาหารหรือไม่ ป้องกันการสำลักอาหารเนื่องจากการไหลย้อนกลับจากกระเพาะเข้าสู่หลอดลม

3. อาการท้องเสีย 

อาการท้องเสีย

อาการท้องเสียอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ

สาเหตุที่พบบ่อย

  • เกิดจากอาหารไม่สะอาด
    • อาหารไม่สะอาด มีไวรัสหรือแบคทีเรียปนเปื้อนในอาหารเหลว 
  • เกิดจากการเก็บรักษาอาหารในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม 
    • การเก็บรักษาอาหารในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม ทำให้อาหารเน่าเสียโดยผู้ดูแลไม่ทราบ
  • เกิดจากการให้อาหารด้วยอัตราไหลที่เร็วเกินไป 
    • หากเป็นการแขวนห้อยถุงอาหาร มักจะเกิดในกรณีที่ผู้ดูแลห้อยถุงอาหารสูงเกินไป ทำให้อาหารเหลวไหลเร็ว 
  • เกิดจากสูตรอาหารมีส่วนผสมของนม
    • เนื่องจากการย่อยนมที่มีส่วนผสมของแลคตูโลสในผู้สูงวัยนั้น มักเกิดการย่อยไม่ดีหรือย่อยไม่ได้ ทำให้ขับถ่ายออกมาโดยไม่ผ่านการย่อยเป็นลักษณะท้องเสียได้ 
  • เกิดจากสูตรอาหารปั่นมีความหนืดเกินไป
    • สังเกตได้จากอัตราไหลของอาหารปั่นนั้นช้ามาก และมักมีอาหารเหลวตกค้างไปตามสายยางให้อาหารที่เห็นได้จากภายนอก
    • อาหารปั่นที่หนืดเกินไป จะก่อให้เกิดการดึงน้ำจากนอกลำไส้ออกมาอยู่ในลำไส้มาก และขับออกมาเป็นอุจจาระในลักษณะอาหารที่ยังไม่ย่อย คล้ายอาการท้องเสียนั่นเอง

วิธีการป้องกันและแก้ไข

  • อาหารเหลวที่บรรจุแล้วควรใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง
  • จัดเก็บเข้าตู้เย็นทันทีในช่องปกติและอยู่ในตู้เย็นตลอดเวลา
    • ห้ามนำเก็บแช่ที่บริเวณช่องฝาประตูตู้เย็น เนื่องจากอาจไม่สามารถควบคุมอุณภูมิได้เหมาะสมคงที่
  • ไม่ควรนำอาหารเหลวที่บรรจุในถุงให้อาหารออกมาอยู่นอกตู้เย็นนานเกิน 2 ชั่วโมง
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนการเตรียมอาหารและก่อนให้อาหารทางสายยางแก่ผู้ป่วย
  • ไม่ควรปรับสูตรอาหารเอง หลีกเลี่ยงการใช้นมวัวเป็นส่วนผสมในอาหารปั่น
  • หากปัญหาเกิดจากการให้อาหารด้วยอัตราไหลที่เร็วเกินไป อาจพิจารณา
    • ใช้เครื่องดริปอาหารอัตโนมัติ ที่สามารถปรับอัตราเร็วการไหลของอาหารเข้าสู่สายยางฟีดอาหารผู้ป่วยได้  โดยปล่อยอาหารให้ไหลช้าๆไม่เร็วกว่า 30 มิลลิลตรต่อนาที 
    • ใช้สายยางให้อาหารที่ต่อจากถุงเข้าสูงสายยางจมูก/หน้าท้องของผู้ป่วยแบบหมุนปรับอัตราการไหลได้ 
    • ปรับความสูงของการแขวนห้อย ถุงอาหารให้อยู่ในระดับที่ต่ำลง

4. อาการท้องผูก

อาการท้องผูก ผู้อายุ

ท้องผูก คืออาการถ่ายอุจจาระลำบาก ต้องเบ่งและใช้เวลานาน อุจจาระมีลักษณะแข็งมาก หลังจากถ่ายเสร็จแล้วยังปวดท้องและมีความรู้สึกว่าถ่ายไม่หมด รวมถึงการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์

อาการท้องผูกในผู้สูงวัยจะมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ทำให้เกิดอาการอืดแน่นท้อง ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง ในบางกรณีหากเป็นมากอาจทำให้เกิดความเครียด จิตใจห่อเหี่ยว ส่งผลให้ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ 

นอกจากระบวนการย่อยทำหน้าที่ลดลงดังได้กล่าวไปเบื้องต้น ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่มีปัญหาท้องผูกมักเกิดจากปัจจัยร่วมหลายอย่าง

สาเหตุที่พบบ่อย 

  • ปัญหาเรื่องฟันและช่องปาก หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอาจสร้างปัญหาการเคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด ส่งผลให้ท้องอืดเฟ้อหลังอาหาร จนทำให้ไม่อยากรับประทานอาหารได้
  • รับประทานอาหารที่มีใยอาหารไม่เพียงพอ เนื่องจากกากใยอาหารมักเคี้ยวยาก มีความเหนียว ยากต่อการเคี้ยวบด ผู้สูงอายุจึงมักเลือกรับประทานอาหารนิ่มที่ขาดใยอาหาร
  • ดื่มน้ำน้อย ผู้สูงอายุกับปัญหาปัสสาวะเล็ดหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นของคู่กัน หลายท่านจึงเลือกที่จะดื่มน้ำน้อยหรือไม่ดื่มระหว่างวันเลย อาการท้องผูกจึงเป็นปัญหาที่ตามมา
  • ขาดการออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวร่างกายในผู้สูงอายุเป็นเรื่องยาก อาจเนื่องด้วยกลัวการพลัดตกหกล้ม หรือบางกรณีที่มีอาการป่วยจากโรคเรื้อรัง รวมถึงไม่เห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย
  • อาการป่วยเรื้อรัง และได้รับยาบางชนิด ส่งผลให้มีอาการท้องผูก
  • ภาวะเครียดเรื้อรัง 
  • มีนิสัยกลั้นอุจจาระ

วิธีการป้องกันและแก้ไข

  • แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง
    • ช่วยกระตุ้นปฏิกิริยาที่ทำให้มีการบีบตัวของทางเดินอาหารอย่างเป็นระบบ เกิดการหลั่งฮอร์โมนที่เพิ่มการทำงานของลำไส้ ทำให้บรรเทาอาการท้องผูกลงได้ โดยปกติผู้สูงอายุควรได้รับใยอาหารประมาณวันละ 20 – 35 กรัม
    • แต่ในผู้ที่มีปัญหาท้องผูกควรได้รับอาหารที่มีใยอาหารเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 25 – 60 กรัม เนื่องจากการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงจะช่วยเพิ่มกากและน้ำหนักในอุจจาระ รวมถึงกากใยยังช่วยอุ้มน้ำ ทำให้อุจจาระอ่อนและเคลื่อนตัวได้ง่าย ช่วยการขับถ่ายให้สะดวกขึ้น
  • เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีปัญหาฟันไม่แข็งแรง หรืออาจไม่มีฟันเลย ส่งผลให้บดเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด เกิดอาการท้องอืดเฟ้อ อีกทั้งกากใยอาหารส่วนใหญ่พบในผัก ผลไม้ มีเนื้อเหนียว ยากต่อการเคี้ยวให้ละเอียด การดัดแปลงอาหารให้มีลักษณะอ่อนนุ่ม ย่อยง่าย เคี้ยวง่าย กลืนง่าย จึงเป็นเรื่องสำคัญ
    • โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการประกอบอาหาร ดัดแปลงให้อาหารอ่อนนุ่มลง เช่น การหั่น การสับหรือการปั่นอาหารให้ชิ้นเล็กลงก่อนนำไปประกอบอาหารด้วยวิธีการนึ่ง ตุ๋น หรือการต้มอาหารให้นิ่ม
  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
    • แบ่งดื่มทั้งวัน หรือปรับปริมาณน้ำดื่มให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของผู้ป่วย ผู้สูงวัยแต่ละบุคคล
  • ออกกำลังกายเบาๆ เหมาะสมกับสภาพร่างกาย
    • กิจกรรมที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ เช่น เดินเล่นหลังรับประทานอาหาร หรือแกว่งแขนยามเช้า จะช่วยให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหว ช่วยในเรื่องการขับถ่ายได้ดีขึ้น
  • ทำจิตใจให้แจ่มใส
  • ฝึกขับถ่ายเป็นเวลาทุกวัน
  • ไม่ควรใช้ยาระบายในผู้สูงวัยนานจนติดเป็นนิสัย ทำให้ไม่สามารถขับถ่ายด้วยตัวเอง
  • อาจพิจารณาใช้ยาระบาย (stimulant laxative)
    • ยาระบาย เช่น dulcolax เป็นยาระบายที่ออกฤทธิ์ให้เกิดการเคลื่อนไหวแบบบีบรูด และการหลั่งน้ำย่อยเพิ่มมากขึ้น ช่วยให้มีการขับถ่ายอุจจาระ โดยวิธีการใช้ยาระบายอาจให้โดยการรับประทานหรือใช้เหน็บทางทวารหนักก็ได้ 

อย่างไรก็ตามนอกจากหากพบว่าอาการท้องผูกเกิดร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด ถ่ายเป็นมูกเลือด ลักษณะอุจจาระผิดปกติไป หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนและรับการรักษาที่ถูกต้อง

5. อาการสำลักขณะหรือหลังให้อาหารทางสายยาง

อาการสำลักขณะหรือหลังให้อาหารทางสายยาง

สาเหตุที่พบบ่อย 

สาเหตุสำคัญสองประการที่ทำให้ผู้ป่วยมีการสำลักขณะหรือหลังให้อาหารทางสายยาง 

  • เกิดจากการจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนราบขณะรับอาหารทางสายยาง
  • เกิดจากปัญหาการไอเสมหะขณะที่ได้รับอาหารทางสายยาง 

การสำลักอาหารของผู้ป่วยเป็นต้นเหตุของการติดเชื้อในปอดและหลอดลม รวมไปถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเข้ากระแสเลือดได้ในที่สุด หากพบว่าผู้ป่วยมีการสำลัก มีการไอกระแอมขณะหรือหลังให้อาหารทางสายยาง ผู้ดูแลควรรีบจัดการแก้ไขด้วยวิธีเบื้องต้นดังต่อไปนี้ 

วิธีการป้องกันและแก้ไข

  • จัดท่าที่เหมาะสม
    • จัดท่านอนให้ศีรษะสูงอย่างน้อย 45 องศา หรือนั่งเอนขณะให้อาหาร
    • ในรายทีนั่งไม่ได้อาจจัดท่าผู้ป่วยในท่านอนตะแคงขวาแทน เนื่องจากหากผู้ป่วยนอนตะแคงทับร่างกายซีกซ้ายขณะให้อาหารอาจทำให้กระเพาะอาหารที่อยู่ด้านซ้ายของผู้ป่วยจะถูกกดทับและส่งผลให้ผู้ป่วยขย้อนอาหารออกมาได้
  • หากผู้ป่วยมีเสมหะปริมาณมาก ต้องทำการดูดเคลียร์เสมหะให้หมดก่อนเริ่มทำการต่อสายยางให้อาหารเข้าสู่ผู้ป่วย 
    • หากจำเป็นต้องทำการดูดเสมหะขณะที่ทำการให้อาหารทางสายยางอยู่ ต้องหยุดการให้อาหาร
    • โดยการหนีบแคลมป์สายยางให้อาหาร หรือหมุนปรับตัวกำหนดอัตราการไหลของอาหารให้เป็นหยุดสนิท จึงเริ่มทำการดูดเสมหะให้เสร็จเรียบร้อย แล้วจึงเริ่มทำการให้อาหารทางสายยางใหม่อีกครั้ง 

ภาวะที่ควรเฝ้าระวังและควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที 

ดังที่กล่าวไปข้างต้น  ผู้ดูแลจะต้องหมั่นสังเกตอาการและนำวิธีแก้ไขในเบื้องต้นไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม ตามลักษณะปัญหาที่พบในผู้ป่วยแต่ละรายบุคคล อาจจะมีการสวนอุจจาระช่วย หรืออาจจะให้ยาช่วยถ่ายไปก่อนในผู้ป่วยที่มีปัญหาท้องอืด แน่นท้อง หรือท้องผูกมาก อย่างไรก็ตามข้อควรระวังที่ควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรรอให้อาการดีขึ้น ได้แก่ 

  • ผู้ป่วยมีไข้ หรือความรู้สึกตัวลดลง บ่งบอกว่าอาจมีการติดเชื้อ
  • ผู้ป่วยไม่สามารถรับอาหารหรือน้ำให้ไปทางสายยางได้เลย หรืออาหารเหลือปริมาณมากติดต่อกันหลายมื้ออาหาร 
  • ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องมากหรือท้องบวมตึง
  • ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียนปริมาณมาก 
  • ผู้ป่วยพบปัญหาผิวหนังบริเวณสายยางให้อาหารทางหน้าท้องมีอาการบวมแดง  

หากพบภาวะดังกว่าวควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อทำการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะอาการดังกล่าวอาจจะเกิดจากสาเหตุ การติดเชื้อในกระแสเลือด หรือมีการตีบตันของสายยางให้อาหาร ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตราย และเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆได้อีก 

 

บทความน่าสนใจ 

 

บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท