เปรียบเทียบการให้อาหารทางสายยาง “ผ่านหน้าท้อง VS. ผ่านทางจมูก”
การให้อาหารทางสายยาง “ผ่านทางจมูก” ไม่ได้เหมาะสมกับคนไข้ทุกคน วันนี้หมอขอมาตอบคำถามว่าเพราะอะไรการให้อาหารทางสายยาง “ผ่านหน้าท้อง” จึงเหมาะสมกว่า “ผ่านทางจมูก”?และใครบ้างที่ควรเลือกให้อาหารทางสายยาง “ผ่านหน้าท้อง”?
ยาวไปเลือกอ่าน...
- มาทำความรู้จักกับสายยางให้อาหารผ่านทางหน้าท้อง
- การให้อาหารทางสายยาง “ผ่านหน้าท้อง” เหมาะกับใคร ?
- เพราะอะไรการให้อาหารทางสายยาง “ผ่านหน้าท้อง” จึงเหมาะสมกว่า “ผ่านทางจมูก”?
เริ่มแรก หมอขอให้ข้อมูลเบื้องต้นก่อน เกี่ยวกับสายยางให้อาหารผ่านทางหน้าท้อง
การสอดสายทางเดินอาหารเข้าไปในกระเพาะอาหารโดยตรงผ่านผนังช่องท้อง (PEG; Percutaneous gastrostomy tubes)
การให้อาหารทางสายยางสามารถปรับปรุงภาวะโภชนาการและการพยากรณ์โรคของผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบากเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง การบาดเจ็บที่ศีรษะ และโรคทางประสาทและกล้ามเนื้อ ตั้งแต่การพัฒนา gastrostomy ส่องกล้องผ่านผิวหนัง (PEG) ในปี 1980 โดย Gauderer และคณะ
การสอดสายทางเดินอาหารเข้าไปในกระเพาะอาหารโดยตรงผ่านผนังช่องท้อง (PEG; Percutaneous gastrostomy tubes) โดยใช้วิธีการส่องกล้อง ก็ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเป็นขั้นตอนทั่วไปสำหรับการให้สารอาหารทางกระเพาะระยะยาวในผู้ป่วยสูงอายุ
การผ่าตัดเป็นการผ่าตัดเล็ก โดยใช้วิธีการส่องกล้อง และมีความเสี่ยงต่อปัญหาขณะ/หลังการผ่าตัดต่ำ
แม้ว่าการให้อาหารทางสายยางทางจมูก (NG tube) เป็นเทคนิคที่ได้รับการพิสูจน์มายาวนานแล้วว่าใช้ในการให้สารอาหารทางสายยางง่ายและแพร่หลาย แต่ก็ไม่ควรใช้นานเกิน 4-6 สัปดาห์ เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือการรักษาไม่สม่ำเสมอได้
การให้อาหารทางสายยาง “ผ่านทางจมูก” ไม่ได้เหมาะสมกับคนไข้ทุกคน
การให้อาหารทางสายยาง “ผ่านหน้าท้อง” เหมาะกับใคร ?
- ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องให้อาหารทางสายยางเป็นเวลานานกว่า 4-6 สัปดาห์
- ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะทุพโภชนาการ
- และที่สำคัญคือ ผู้ป่วยที่ไม่น่าจะฟื้นความสามารถในการกินอาหารทางปากได้ในระยะสั้น
เพราะอะไรการให้อาหารทางสายยาง “ผ่านหน้าท้อง” จึงเหมาะสมกว่า “ผ่านทางจมูก”?
- สายยางให้อาหารทางหน้าท้องนี้ จะช่วยให้การให้อาหารทำได้โดยสะดวก
- ลดความรู้สึกไม่สบายตัว และความลำบากใจในการต้องมีสายพะรุงพะรังอยู่ที่บริเวณหน้าจมูก
- ผู้ป่วยจะยังสามารถได้ รับอาหารตามที่โภชนาการกำหนดมากขึ้น
เหตุผลที่สำคัญที่สุด คือ
สายยางให้อาหารทางจมูก (สายNG หรือทางการแพทย์เรียกว่า NG tube) มัก “หลุดออก” ได้ง่าย ทำให้ยากต่อการดูแล ที่ต้องจ้างพยาบาลมาใส่สายยางทางจมูกใหม่เรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม แนวคิดของการให้อาหารทางสายยาง “ ผ่านหน้าท้อง” นั้น
- ต้องเป็นที่ยอมรับของผู้ป่วยและครอบครัวหรือผู้ดูแล
- ความเหมาะสมในการวางตำแหน่ง gastrostomy ควรได้รับการยืนยันโดยแพทย์ระบบทางเดินอาหารที่มีประสบการณ์หรือสมาชิกของทีมสนับสนุนด้านโภชนาการที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการพยากรณ์โรคของการกลืนลำบากควรได้รับการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ
ในปี 2015 Gomes JR และคณะ ได้รวบรวมข้อมูล เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ การให้อาหารทางสายยาง “ผ่านหน้าท้อง (PEG) เทียบกับ การให้อาหารทางสายยาง “ผ่านทางจมูก”(NG tube) สำหรับผู้ใหญ่ที่มีปัญหาการกลืน ในวารสารทางการแพทย์ พบว่า...
การให้อาหารทางสายยาง “ผ่านหน้าท้องนั้นพบภาวะแทรกซ้อนจากขั้นตอนการใส่น้อยกว่า บ่งชี้ว่าขั้นตอนการส่องกล้องอาจมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากกว่าเมื่อเทียบกับการให้อาหารทางสายยาง “ผ่านทางจมูก” แต่อย่างไรก็ตามไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในอัตราการเสียชีวิตระหว่างกลุ่มเปรียบเทียบ หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น กล่าวรวมถึง โรคปอดอักเสบจากการสำลักอาหาร เป็นต้น
Reference
- Gomes CA Jr, Andriolo RB, Bennett C, et al. Percutaneous endoscopic gastrostomy versus nasogastric tube feeding for adults with swallowing disturbances. Cochrane Database Syst Rev. 2015;2015(5):CD008096. Published 2015 May 22. doi:10.1002/14651858.CD008096.pub4
บทความน่าสนใจ
- เรียนรู้วิธีการให้อาหารทางสายยาง
- เราจะทราบได้อย่างไรว่าปลายสายยางให้อาหาร-อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม?
- วิธีการล้างและนำถุงบรรจุอาหารเหลวทางการแพทย์กลับมาใช้ซ้ำ
- รู้ทัน!! อาการผิดปกติที่พบบ่อยในผู้ป่วยรับอาหารทางสายยาง (ฉบับเต็ม)
- ภาวะกลืนลำบาก กลืนยากในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากอะไร?
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท