ภาวะกลืนลำบาก กลืนยากในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากอะไร ?
ภาวะกลืนลำบาก เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง นับเป็นปัญหาและภาระสำคัญของผู้ป่วยและญาติผู้ดูแล

พบได้มากถึง 50% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (ในช่วงแรกของตัวโรค) และมากถึง 80% ในช่วงกึ่งเฉียบพลัน
ภาวะกลืนลำบากในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากความเสียหายของส่วนของสมองที่ควบคุมการกลืน ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่รอยโรคที่สมองส่วนบน ลงมาถึงก้านสมอง และเส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อการกลืน การพูด ล้วนส่งผลให้เกิดปัญหาการทำงานประสานกันและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่จำเป็นในการใช้กลืน
ผู้สูงอายุอาจมีภาวะกลืนลำบากและประสิทธิภาพในการกลืนลดลง เนื่องจากความเสื่อมของสภาพร่างกายหลายส่วน
- ปัญหาด้านสมองและระบบประสาทสั่งการ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น
- ความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเคี้ยวอาหารหรือเส้นประสาทที่ควบคุม กล้ามเนื้อสำหรับการเคี้ยวอาหาร จะทำให้ประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวอาหารลดลงอย่างชัดเจน
- ปัญหาภายในช่องปาก ฟันที่ไม่แข็งแรง สุขภาพเหงือกที่ไม่ดี ทำให้ไม่สามารถเคี้ยว หรือกัดอาหารที่เป็นชิ้นใหญ่ เหนียวได้ดั่งวัยรุ่น

อาการเหล่านี้ล้วนทำให้ผู้ป่วยมีภาวะกลืนลำบาก กลืนแล้วเจ็บ กลืนยาก ทำให้ไม่อยากทาน หรืออยากทานก็ทานได้น้อย
แต่หากวิเคราะห์ลงไปในปัญหาการกลืนของแต่ละบุคคลแล้วนั้นจะพบว่า ปัญหาดังกล่าวพบในผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกันออกไป
อาการแสดงที่หลากหลายแตกต่างกันไป เช่น กลืนอาหารแล้วรู้สึกว่ามีอาหารติดอยู่ในลำคอ มีสำลักตอนกลืน และไอขณะกลืนอาหาร หรือแม้กระทั่งอมอาหารไว้ในปาก ไม่ยอมกลืนลงไป แต่ละปัญหาเกิดจากความผิดปกติแต่ละส่วนกัน ของระบบทางเดินอาหาร ปาก ลิ้น คอหอย หูรูด กระเพาะอาหาร ลำไส้ เป็นต้น
ปัญหาดังกล่าวอาจนำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการที่แย่ลงได้ เนื่องมาจากการการรับประทานอาหารลดลง และได้รับสารอาหารและน้ำไม่เพียงพอได้
โภชนาการและอาหารเป็นหนึ่งในสี่ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
การได้ทานอาหารอร่อย รสชาติดี มีเนื้อสัมผัสที่ดี นับเป็นความสุขเล็กๆที่ยิ่งใหญ่สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยทางโรคระบบประสาท ผู้ป่วยทุกท่านที่มีปัญหาทางการกลืน
การจัดการปัญหาให้ถูกที่ ประเมินการกลืนให้ถูกต้อง จะสามารถลดความเสี่ยงการเกิดปอดติดเชื่อจากการสำลักอาหาร รวมถึงภาวะขาดสารอาหาร จากการได้รับโภชนาการไม่เพียงพอได้
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ
- มาทำความรู้จัก "อาหารฝึกกลืน"
- เรียนรู้วิธีการให้อาหารทางสายยาง
- วิธีการล้างและนำถุงบรรจุอาหารเหลวทางการแพทย์กลับมาใช้ซ้ำ
- การวิเคราะห์ปัญหากลืนลำบากในผู้ป่วยสโตรก อย่างเป็นขั้นตอน
- เปรียบเทียบการให้อาหารทางสายยาง “ผ่านหน้าท้อง VS. ผ่านทางจมูก”
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท