Q&A ทำไมผู้ป่วยรับอาหารทางสายยางแล้วถึงอาเจียนบ่อย ?

ญาติผู้ดูแลหลายท่านมักมาปรึกษาหมอเกี่ยวกับปัญหาหลังได้รับฟีด โดยหนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยของผู้ป่วยที่รับอาหารทางสายยาง ก็คือ หลังผู้ป่วยได้รับอาหารไปสักพัก มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนตามมา สาเหตุเกิดจากอะไร เราจะป้องกันอย่างไร มาติดตามอ่านกันเลยค่ะ

ทำไมผู้ป่วยรับอาหารทางสายยางแล้วถึงอาเจียนบ่อย

ทำไมผู้ป่วยรับอาหารทางสายยางแล้วถึงอาเจียนบ่อย ?

อาการคลื่นไส้อาเจียนอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ 

สาเหตุที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่รับอาหารทางสายยาง

  • เกิดจากภาวะท้องอืดหรืออาหารมื้อก่อนหน้าไม่ย่อย ทำให้อาหารที่ฟีดเข้าไปใหม่ ไม่สามารถกักเก็บไว้ในกระเพาะอาหารได้ จึงมีอาการมวน คลื่นไส้ และอาเจียนดันอาหารใหม่ออกมา 
  • ผู้ป่วยบางท่านอาจเกิดจากภาวะท้องผูกร่วมด้วย 
  • เกิดจากตำแหน่งของปลายสายยางให้อาหารอยู่ผิดตำแหน่ง ไม่ได้อยู่ในกระเพาะอาหาร อาจอยู่สูงขึ้นมา ส่งผลให้อาหารเหลวที่รับเข้าไปในตัวผู้ป่วยไหลท้นออกมาได้ เป็นต้น

วิธีการป้องกันและแก้ไข

  • วิธีแก้ไขที่ง่ายที่สุด เบื้องต้นคือเช็คว่าผู้ป่วยนั้นมีภาวะท้องอืดและท้องผูกอยู่หรือไม่
  • ก่อนเริ่มให้อาหารทางสายยาง ต้องทำการตรวจสอบตำแหน่งของปลายสายยางให้อาหาร โดยต่อหัวกระบอกให้อาหาร (Syringe feeding) เข้ากับรูเปิดของสายให้อาหารโดยสำรวจให้กระชับและแน่น แล้วค่อยๆดูด
    • หากตำแหน่งถูกต้องจะพบมีน้ำย่อยหรืออาหารที่กำลังย่อย
    • หากไม่พบต้องตรวจสอบโดยการฟังเสียงของอากาศ โดยดันลมประมาณ 15-20 มิลลิลิตรผ่านกระบอกให้อาหาร ผ่านต่อไปยังสายยางให้อาหาร เข้าไปในกระเพาะอาหารอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการทดสอบตำแหน่งของสายให้อาหารว่ายังอยู่ถูกต้องในกระเพาะอาหารหรือไม่ ป้องกันการสำลักอาหารเนื่องจากการไหลย้อนกลับจากกระเพาะเข้าสู่หลอดลม
  • ให้อาหารทางสายยาง 4 มื้อต่อวัน โดยปกติแล้วคนทั่วไปจะรับประทานอาหาร 3 มื้อต่อวัน แต่ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับอาหารทางสายยาง ควรแบ่งปริมาณอาหาร แคลอรี่ทั้งวันออกเป็น 4 มื้อ 
    • เนื่องจากการให้อาหารปริมาณมากในแต่ละมื้อ อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการแน่นท้อง ปวดท้อง และอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่นได้ เช่น อาหารไม่ย่อย อาเจียน สำลักอาหารที่ท้นออกมาลงหลอดลม และเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอักเสบจากการสำลักอาหารตามมาได้
    • ผู้ป่วยบางรายจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่าปกติในการย่อยอาหาร เนื่องจากระบบย่อยอาหารที่ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ  ปริมาณอาหารที่มากเกินไป อาจมากเกินความสามารถในการย่อยได้ทัน 
    • ดังนั้นเพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยได้ย่อยและดูดซึมสารอาหารได้อย่างเต็มที่ก่อนที่จะได้รับอาหารในมื้อถัดไป จึงควรแบ่งอาหารปริมาณที่เหมาะสมออกเป็น 4 มื้อ ดีกว่าเร่งฟีดอาหารมื้อใหญ่ทางสายยางทั้งหมด เพียง 3 มื้อต่อวันค่ะ

ผู้ดูแลหรือญาติ จะต้องเรียนรู้วิธีการจัดเตรียมและให้อาหารทางสายยางด้วยวิธีที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่เพียงพอ และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการให้อาหารทางสายยางด้วย

บทความน่าสนใจ

 

บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท