อาหารทางสายยาง มีกี่ประเภท จะเลือกใช้อย่างไร ?
วันนี้หมอขอมาแนะนำความรู้ดีดีเกี่ยวกับอาหารทางสายยาง สำหรับผู้ดูแลมือใหม่ ที่ยังไม่คุ้นชินกับการให้อาหารทางสายยาง เพื่อจะได้เลือกใช้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ของผู้ป่วยของเรากันค่ะ
อาหารทางสาย (Enteral Nutrition)
หมายถึงอาหารที่มีลักษณะเป็นของเหลวสามารถไหลผ่านสายให้อาหารเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยได้ โดยให้พลังงานและสารอาหารเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกายผู้ป่วย
อาหารทางสายให้อาหารที่ใช้อยู่ในโรงพยาบาล แบ่งออกเป็น 3 ชนิด
- ชนิดสูตรน้ำนมผสม (Milk-Base Formula)
- สูตรนี้มีน้ำนมและผลิตภัณฑ์จากนมเป็นส่วนประกอบสำคัญ
- ในทางปฏิบัติสูตรน้ำนมผสมนี้จะเตรียมให้กับผู้ป่วยเด็กเท่านั้น
หมอไม่แนะนำให้อาหารสูตรนี้สำหรับผู้ป่วยผู้ใหญ่ เนื่องจากผู้ป่วยผู้ใหญ่มักขาดน้ำย่อยแลคเตส และมักทำให้ท้องเสียได้
- ชนิดสูตรอาหารปั่นผสม (Blenderized Feeding Formula)
ในปัจจุบันฝ่ายโกชนาการ แต่ละโรงพยาบาลจะเป็นผู้กำหนดสูตรอาหารปั่นผสมขึ้นใช้เองเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละบุคคล สูตรอาหารปั่นผสมนี้จะยึดหลักการใช้อาหารหลัก 5 หมู่ เป็นส่วนผสมในการปรุงปั่น
- อาหารปั่นผสมแบ่งออกเป็น 2 ชนิด
2.1. อาหารปั่นผสมที่ให้ทางสายให้อาหาร (Blenderized tube feeding diet)
อาหารชนิดนี้ให้แก่ผู้ป่วยโดยผ่านทางสายให้อาหาร
2.2. อาหารปั่นผสมชนิดดื่ม (Blenderized diet for use, oral food supplement)
สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานอาหารทางปากได้น้อย แพทย์จะสั่งอาหารเสริมด้วยอาหารเสริมสูตรจำเพาะ โดยมักเป็นชนิดดื่มทางปากได้ หรือในลักษณะซุปข้นที่มีสารอาหารเพิ่มเติมจากมื้ออาหารปกติ โดยเป็นสูตรอาหารสำเร็งที่มีสารอาหารใกล้เคียงกับที่ร่างกายต้องการ สะดวกในการใช้ แต่ราคาจะแพงกว่าสูตรอาหารผสมที่ทำขึ้นเอง
- ข้อเสียของแบบนี้ คือ
- ผู้ดูแลต้องยุ่งยากในการเตรียม
- การเตรียมอาหาร ต้องจัดเตรียมสำหรับแต่ละวัน และใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง เนื่องจาก
- **การเก็บไว้นานอาจทำให้อาหารนั้นมีการติดเชื้อและทำให้เกิดอาการท้องเสียได้**
- อ่านเพิ่มเติม : เปลี่ยนสูตรอาหารทางสายยางแล้ว "ท้องเสีย" เกิดจากอะไร?
- ชนิดสูตรอาหารสำเร็จ (Commercial Formula)
เป็นสูตรอาหารที่มีขายในท้องตลาดสูตรอาหารสำเร็จที่ใช้กันในโรงพยาบาลมีหลายชนิดหลากหลายยี่ห้อ เช่น Ensure lsocal Pan-enteral Blendara Glucerna Nutren
มีทั้งชนิดที่เป็นของเหลว และเป็นผง สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับผู้ป่วย
- การเลือกใช้ยี่ห้อใด สูตรใด หมอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการในครั้งแรกสุด เพื่อเลือกใช้ให้เหมาะ ตรงกับโรคประจำตัวของผู้ป่วยค่ะ
หลังจากได้รู้จักประเภทของอาหารทางสายยางไปกันแล้ว หมอหวังว่าญาติหรือผู้ดูแลหลายๆท่านจะสามารถเลือกอาหารได้ตามความสะดวก และค่าใช้จ่ายภายในบ้านของแต่ละคน ให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้ป่วยค่ะ ^^
บทความน่าสนใจ
- ข้อควรระวังในการให้อาหารทางสายยาง
- Q&A ทำไมผู้ป่วยรับอาหารทางสายยางแล้วถึงอาเจียนบ่อย?
- เปลี่ยนสูตรอาหารทางสายยางแล้ว "ท้องเสีย" เกิดจากอะไร?
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท