แนะนำข้อมูล-การใช้สายยางให้อาหารในผู้ป่วย
การใส่สายยางให้อาหารทางจมูก เป็นตำแหน่งที่นิยมใส่มากที่สุด ใส่ง่าย โดยนิยมใช้ในผู้ป่วยวางแผนการให้อาหารทางสายยางไม่นาน อาจใส่ไว้ในระยะแรกหลังออกจากโรงพยาบาล เพื่อป้องกันปัญหาการสำลัก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืน จากโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
สำหรับผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพปัญหาของจมูก เช่น ได้รับการบาดเจ็บ หรือในผู้ป่วยเด็ก และทารก แพทย์อาจแนะนำให้ใส่เป็นสายให้อาหารทางปากไปก่อนชั่วคราว เรียกว่า โอจี ทิ้วบ์ (Orogastric Tube) (OG tube)
และสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับอาหารทางสายยางเป็นระยะยาว หมอขอแนะนำให้ศึกษาทางเลือกการให้อาหารทางหน้าท้อง เป็นทางเลือกที่แนะนำค่ะ
วันนี้หมอจะมาแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สายยางให้อาหารในผู้ป่วย เผื่อจดไปใช้กันค่ะ
สายให้อาหาร (Feeding tube)
- อธิบายโดยง่ายคือ สายยางยาว ขนาดความยาว 50-60 เซนติเมตร ที่สามารถโค้งงอได้ ใส่เข้าทางรูจมูกผ่านคอลงไปถึงกระเพาะอาหาร มีเทปติดไว้ที่จมูกเพื่อกันเคลื่อนเข้าออก
- โดยเวลาหาซื้อตามร้านขายอุปกรณ์การแพทย์ทั่วไป ร้านขายจะถามถึงขนาดสายยาง ว่าขนาดเท่าไหร่
** ปัญหาที่พบบ่อย และทำให้ญาติต้องเสียเวลากลับมารพ.หลายๆครั้งพบว่า ญาติผู้ดูแลไม่ทราบว่า สายยางให้อาหารที่ใส่นั้นขนาดเท่าไหร่ ไปหาซื้อ เพื่อเปลี่ยนตามกำหนดไม่ได้ **
ดังนั้น ก่อนรับผู้ป่วยกลับบ้านไป อย่าลืม สอบถามขนาดสายยาง หรือ สี (สายยางแต่ละขนาดมักมีสีประจำ ที่เป็นสากล สามารถบอกสีแทนขนาดได้ค่ะ) ของสายยางให้อาหารก่อนกลับบ้านด้วย
Q&A: สายยางให้อาหารต้องเปลี่ยนทุกกี่สัปดาห์
ควรเปลี่ยนสาย NG tube และ เปลี่ยนรูจมูก สลับข้างใส่สาย ทุก 2-4 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการกดทับผนังกั้นจมูก
ตารางแสดงขนาดของสายยางที่เหมาะสมในแต่ละวัย
อายุ |
ขนาด |
ทารกแรกเกิดที่น้ำหนักน้อยกว่าปกติ |
5-6 Fr |
ทารกแรกเกิด |
6-8 Fr |
เด็ก |
8-12 Fr |
ผู้ใหญ่ |
12 Fr >> สีขาว 14 Fr >> สีเขียว 16 Fr >> สีเขียวส้ม 18 Fr >> สีแดง |
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย
- อุปกรณ์สำหรับใส่สายยางให้อาหารผู้ป่วยทางจมูก (พร้อมภาพประกอบ)
- คู่มือจัดการ ภาวะท้องอืดหลังผู้ป่วยได้รับอาหารทางสายยาง
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท