ใครบ้างที่จำเป็นต้องให้อาหารทางสายยาง (NG tube)
หลายๆครั้ง ญาติผู้ป่วยคงได้รับการแนะนำจากคุณหมอว่า “คนไข้ต้องให้อาหารทางสายยาง” แต่คุณหมอยังไม่ได้อธิบายอย่างละเอียดให้ฟังว่า ความจำเป็นที่ต้องมีอุปกรณชนิดใหม่ติดตัวคนไข้นั้น มีความจำเป็นอย่างไร หรือกระทั่งสายยางให้อาหารนั้นคืออะไร เข้าทางไหน ใส่ลงไปอยู่ในส่วนไหนของร่างกาย
หากใครมีข้อสงสัยว่าทำไมต้องให้อาหารทางสายยาง การให้อาหารทางสายยางเป็นอย่างไร มาเริ่มรู้จักกันเลยค่ะ
อธิบายโดยง่าย
- สายให้อาหาร หรือ สาย NG คือ สายยางยาว ขนาดความยาว 50-60 เซนติเมตร ที่สามารถโค้งงอได้ ใส่เข้าทางรูจมูกผ่านคอลงไปถึงกระเพาะอาหาร ปลายสายอยู่ในกระเพาะอาหาร เเละมีเทปติดไว้ที่จมูกเพื่อกันเคลื่อนเข้าออก
โดยทั่วไปจะใช้เพื่อให้อาหารทางสายยาง หรือเรียกภาษาหมอว่า “ฟีดอาหาร”
ยาวไปเลือกอ่าน...
-
ข้อบ่งชี้ในการใส่สายยางให้อาหารในผู้ป่วย?
-
เวลาใส่เจ็บหรือไม่ ใส่แล้วผู้ป่วยจะรู้สึกอย่างไร?
-
หลังหลังใส่สายยางให้อาหาร ทานทางปากได้หรือไม่?
-
ต้องใส่สายยางให้อาหารตลอดไปหรือไม่?
-
เมื่อไหร่ จะสามารถถอดสายยางให้อาหารได้?
ข้อบ่งชี้ในการใส่สายยางให้อาหารในผู้ป่วย?
- ผู้ที่รับประทานอาหารทางปากไม่ได้
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการกลืน และสำลักอาหาร โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ซึ่งรอยโรคในสมองมักกระทบต่อตำแหน่งการควบคุมการกลืน
- ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมระยะท้าย ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ (Alzheimer), ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันระยะท้าย (Parkinson) ซึ่งมักมีปัญหาในการเคี้ยว กลืน สำลัก
- ผู้ที่ไม่รู้สึกตัวหรือไม่ยอมรับประทานทางปาก
- ผู้ที่ทานได้น้อยกว่า 60% ของพลังงานที่ควรได้รับต่อวัน นานติดต่อกันเกิน 3-7 วัน ทำให้เสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหาร
- ผู้ที่มีภาวะขาดสารอาหารและจำเป็นต้องเพิ่มภาวะโภชนการ
เวลาใส่เจ็บหรือไม่ ใส่แล้วผู้ป่วยจะรู้สึกอย่างไร?
- ความรู้สึกของผู้ป่วยตอนใส่สายยาง จะรำคาญและเจ็บเล็กน้อย เนื่องจากสายต้องผ่านเข้าไปทางโพรงจมูก และคอหอย ซึ่งเป็นเยื่อบุอ่อน จึงทำให้ระคายเคืองได้
- หลังใส่สายยางให้อาหารไป ในช่วงแรกผู้ป่วยจะรู้สึกรำคาญ ที่ต้องมีอะไรมาคาที่จมูกและในคอ อย่างไรก็ตามสายยางให้อาหารนี้ มีประโยชน์อย่างมากในผู้ป่วยที่กลืนลำบาก หรือมีความเสี่ยงในการสำลักอยู่
หลังใส่สายยางให้อาหาร ทานทางปากได้หรือไม่?
- โดยกายภาพ ผู้ป่วยจะยังสามารถกลืนทางปากได้ โดยอาหารที่ทานต้องเป็นน้ำเหลว น้ำข้น ส่วนอาหารที่เป็นของแข็งเช่นข้าวสวย กับข้าวนั้น จะยังไม่สามารถทานได้ เนื่องจากจะลงไปติดกับสายยางที่ผ่านอยู่ในทางเดินอาหารบริเวณลำคออยู่
- อย่างไรก็ตาม การกลืนของทางปาก แม้ว่าทำได้ แต่ข้อสำคัญที่ต้องตระหนักคือ ปัญหาการสำลักอาหารลงปอด ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามมา หมอขอแนะนำอย่างยิ่งว่าการถอดสายเอง แล้วทานทางปาก โดยที่สภาพร่างกาย การเคี้ยวกลืนยังไม่พร้อมนั้น มีความเสี่ยงอย่างมากต่อการสำลักอาหารลงปอด และนำไปสู่โรคปอดอักเสบติดเชื้อ อันตรายถึงแก่ชีวิตได้
หากต้องการฝึกกลืน หรือพิจารณาการถอดสายให้อาหารทางจมูก>> หมอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล เพื่อประเมินและฝึกการเคี้ยวกลืนด้วยเทคนิกวิธีที่ถูกต้องนะคะ
ต้องใส่สายยางให้อาหารตลอดไปหรือไม่?
เป็นคำถามยอดฮิตที่ผู้ป่วยและญาติถามหมอเสมอๆ
คำตอบคือ แล้วแต่สภาวะของผู้ป่วยแต่ละบุคคลไป สามารถถอดออกได้หากหมดข้อบ่งชี้ ดังที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นค่ะ
เช่น หากผู้ป่วยใส่สายยางให้อาหาร ด้วยข้อบ่งชี้ คือ ภาวะกลืนลำบาก กลืนสำลัก หลังจากที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เมื่อผ่านระยะแรกของโรคไปแล้ว อวัยวะในการกลืนมักสามารถฟื้นตัวได้ระดับหนึ่ง หากได้รับการกายภาพฟื้นฟู และฝึกการกลืนด้วยวิธีที่ถูกต้อง ก็จะทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาทานอาหารทางปากแบบปกติได้
- เมื่อไหร่ จะสามารถถอดสายยางให้อาหารได้นั้น ไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจน ในภาพรวมคือเมื่อความเจ็บป่วยทางร่างกายเริ่มทุเลาลง อาการคงที่ ผู้ป่วยควรมีสัญญาณชีพที่คงที่ ไม่ได้ใส่ท่อช่วยหายใจ และตื่นรู้ตัวดีแล้ว
- รวมถึงควรได้รับการประเมิณจากแพทย์ นักกายภาพฟื้นฟูก่อน ว่าผู้ป่วยสามารถกลืนทางปากได้แล้ว
จึงเริ่มฝึกกลืน และประเมิณการกลืนตามลำดับ หากประเมิณว่าผ่าน จึงสามารถถอดสายยาง ทานอาหารทางปากได้อย่างปลอดภัย
>> ขั้นตอนการประเมิณการกลืน ควรเริ่มเมื่อไหร่ ผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านควรเริ่มฝึกกลืน หรือทานเองทางปากได้แล้วหรือไม่ ?
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถถอดสายยางให้อาหารได้ ผู้ป่วยและญาติผู้ดูแลอย่าเพิ่งท้อใจไปนะคะ
การฝึกกลืน ทำกายภาพบำบัด การฝึกการออกเสียง เคลื่อนที่ออกกำลังกายลิ้น เพดานปาก จะช่วยให้กล้ามเนื้อการกลืน การออกเสียงแข็งแรงขึ้นตามลำดับ
หากสุดท้ายแล้วไม่สามารถกลืนได้ผ่านจริงๆ อาจลองปรึกษาทางเลือกการทำสายยางทางหน้าท้อง ภาษาหมอเรียกว่า เพ็ก (PEG) ที่ย่อมาจาก “Percutaneous Endoscopic Gastrostomy” เพื่อให้อาหารทางหน้าท้องระยะยาว ซึ่ง "ข้อดีข้อเสีย ของการใช้สายยางทางหน้าท้องมีอย่างไรบ้าง" สามารถติดตามอ่านต่อได้เลยค่ะ
อ่านเพิ่มเติม
- Step by step : 9 ขั้นตอนการใส่สายยางให้อาหารผู้ป่วยทางจมูก
- แนะนำข้อมูล-การใช้สายยางให้อาหารในผู้ป่วย
- อุปกรณ์สำหรับใส่สายยางให้อาหารผู้ป่วยทางจมูก (พร้อมภาพประกอบ)
- คู่มือจัดการ ภาวะท้องอืดหลังผู้ป่วยได้รับอาหารทางสายยาง
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท