เปลี่ยนสูตรอาหารทางสายยางแล้ว "ท้องเสีย" เกิดจากอะไร?
ญาติหลายท่านไม่กล้าที่จะลองสูตรอาหารใหม่ๆ เพราะกลัวว่าผู้ป่วยจะท้องเสีย วันนี้หมอจะมาเล่าให้ฟังว่า แท้จริงแล้ว สาเหตุที่ผู้ป่วยท้องเสีย หลังได้รับฟีดนั้น เกิดจากสาเหตุใดบ้าง
อาการท้องเสียอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ
สาเหตุที่พบบ่อย
- เกิดจากอาหารไม่สะอาด
- มีไวรัสหรือแบคทีเรียปนเปื้อนในอาหารเหลว
- เกิดจากการเก็บรักษาอาหารในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม
- ทำให้อาหารเน่าเสียโดยผู้ดูแลไม่ทราบ
- เกิดจากการให้อาหารด้วยอัตราไหลที่เร็วเกินไป
- หากเป็นการแขวนห้อยถุงอาหาร มักจะเกิดในกรณีที่ผู้ดูแลห้อยถุงอาหารสูงเกินไป ทำให้อาหารเหลวไหลเร็ว
- เกิดจากสูตรอาหารมีส่วนผสมของนม
- เนื่องจากการย่อยนมที่มีส่วนผสมของแลคตูโลสในผู้สูงวัยนั้น มักเกิดการย่อยไม่ดีหรือย่อยไม่ได้ ทำให้ขับถ่ายออกมาโดยไม่ผ่านการย่อยเป็นลักษณะท้องเสียได้
- เกิดจากสูตรอาหารปั่นมีความหนืดเกินไป
- สังเกตได้จากอัตราไหลของอาหารปั่นนั้นช้ามาก และมักมีอาหารเหลวตกค้างไปตามสายยางให้อาหารที่เห็นได้จากภายนอก อาหารปั่นลักษณะดังกล่าวจะก่อให้เกิดการดึงน้ำจากนอกลำไส้ออกมาอยู่ในลำไส้มาก และขับออกมาเป็นอุจจาระในลักษณะอาหารที่ยังไม่ย่อย คล้ายอาการท้องเสียนั่นเอง
วิธีการป้องกันและแก้ไข
- อาหารเหลวที่บรรจุแล้วควร ใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง
- จัดเก็บเข้าตู้เย็นทันทีในช่องปกติและอยู่ในตู้เย็นตลอดเวลา ห้ามนำเก็บแช่ที่บริเวณช่องฝาประตูตู้เย็น เนื่องจากอาจไม่สามารถควบคุมอุณภูมิได้เหมาะสมคงที่
- ไม่ควรนำอาหารเหลวที่บรรจุในถุงให้อาหารออกมาอยู่นอกตู้เย็นนานเกิน 2 ชั่วโมง
- ล้างมือให้สะอาดก่อนการเตรียมอาหารและก่อนให้อาหารทางสายยางแก่ผู้ป่วย
- ไม่ควรปรับสูตรอาหารเอง หลีกเลี่ยงการใช้นมวัวเป็นส่วนผสมในอาหารปั่น
- หากปัญหาเกิดจากการให้อาหารด้วยอัตราไหลที่เร็วเกินไป อาจพิจารณา
- ใช้เครื่องดริปอาหารอัตโนมัติที่สามารถปรับอัตราเร็วการไหลของอาหารเข้าสู่สายยางฟีดอาหารผู้ป่วยได้ โดยปล่อยอาหารให้ไหลช้าๆไม่เร็วกว่า 30 มิลลิลตรต่อนาที
- ใช้สายยางให้อาหารที่ต่อจากถุงเข้าสูงสายยางจมูก/หน้าท้องของผู้ป่วยแบบหมุนปรับอัตราการไหลได้
- ปรับความสูงของการแขวนห้อยถุงอาหารให้อยู่ในระดับที่ต่ำลง
กล่าวโดยสรุป ท่านผู้อ่านคงตอบคำถามกับตัวเองได้แล้วว่า
สาเหตุที่ผู้ป่วยท้องเสีย หลังได้รับฟีดนั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ได้เกิดจากการได้รับฟีดอาหารสูตรใหม่เพียงอย่างเดียว หากอาหารสูตรใหม่นั้นทำผ่านกระบวนการที่สะอาด เหมาะสม ก็จะไม่เกิดอาการท้องเสียตามมาแต่อย่างใด
อาหารปั่นผสมที่ดีจะต้องสะอาดและปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการครบ ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงส่วนผสมของนมวัว ผู้ดูแลจะต้องปรุงอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายของผู้ป่วย โดยอาจปรับเปลี่ยนสูตรอาหารให้หลากหลายไม่จำเจ แต่คงคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนเท่าเดิม อาหารที่หลากหลายพบว่าสามารถช่วยรักษาสมดุลของร่างกายและยังดีต่อระบบย่อยอาหารอีกด้วย
บทความน่าสนใจ
- ข้อควรระวังในการให้อาหารทางสายยาง
- Q&A ทำไมผู้ป่วยรับอาหารทางสายยางแล้วถึงอาเจียนบ่อย?
- อาหารทางสายยาง มีกี่ประเภท จะเลือกใช้อย่างไร ?
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท