วิธีการล้างและนำถุงบรรจุอาหารเหลวทางการแพทย์กลับมาใช้ซ้ำ
โดยทั่วไปถุงบรรจุอาหารสำหรับให้อาหารทางสายยางแก่ผู้ป่วยตามข้อแนะนำของผู้ผลิต แนะนำว่าเป็นถุงที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วย หลายๆครั้งมีการนำกลับมาล้างใช้ซ้ำได้ โดยสามารถนำกลับมาล้างใช้ซ้ำได้ ประมาณ 2-3 ครั้ง พิจารณาตามความสะอาดเป็นสำคัญ
ความสะอาดถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการให้อาหารทางสายยางแก่ผู้ป่วย ผู้ดูแลจะต้องใส่ใจเรื่องของความสะอาด ทำตามขั้นตอนเพื่อให้ผู้ป่วยนอกจากจะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ยังได้รับอาหารอย่างปลอดภัย หลีกเลี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการให้อาหารทางสายยางอีกด้วย
วันนี้หมอขอมาแนะนำวิธีการล้างและนำถุงบรรจุอาหารเหลวทางการแพทย์กลับมาใช้ซ้ำ อธิบายทีละขั้นตอน เพื่อให้ญาติผู้ดูแลสามารถนำไปทำตามได้ง่ายๆค่ะ
ขั้นตอนที่ 1 - หลังจากให้อาหารทางสายยางเสร็จ
- เทอาหารเหลวที่เหลือออก
- แล้วจึงทำการเปิดจุกข้อต่อที่ส่วนบนและล่างของถุงบรรจุอาหาร ล้างด้วยน้ำสะอาดโดยล้างบริเวณจุกข้อต่อส่วนล่างก่อนแล้วปิดให้สนิท
- จากนั้นนำน้ำสะอาดกรอกเข้าไปในถุงใส่อาหาร ผ่านทางจุกข้อต่อส่วนบนแล้วปิดจุกข้อต่อ
- จากนั้นเขย่าถุงเพื่อชำระล้างคราบอาหารที่อยู่ภายในถุงบรรจุอาหารให้ทั่ว
- แล้วเปิดจุกข้อต่อส่วนล่างเพื่อเทน้ำในถุงอาหารออก
- ทำซ้ำทั้งหมด 2-3ครั้งจนกว่าคราบอาหารด้านในถุงจะออกหมด
ขั้นตอนที่ 2 - ลวกถุงบรรจุอาหารเพื่อฆ่าเชื้อโรค
- นำน้ำร้อนอุณภูมิประมาณ 70-80 องศาเซลเซียสมาลวกถุงบรรจุอาหาร
- โดยการใช้เหยือกใส่น้ำร้อนกรอกน้ำร้อนให้ไหลผ่านลงไปในถุงบรรจุอาหาร
- เทน้ำร้อนที่ค้างออกจากถุง
- แล้วเปิดจุกข้อต่อทั้งสองส่วนออก
- นำไปตากแดดในที่ร่มหรืออาจใช้วิธีปิดจุกข้อต่อทั้งสองข้างแล้วนำไปแช่ในตู้เย็นใต้ช่องแช่แข็ง ก็ได้
ขั้นตอนที่ 3 - นำกลับมาบรรจุอาหารมื้อถัดไป
ลำดับต่อมาหากต้องการนำถุงบรรจุอาหารที่ล้างทำความสะอาดแล้วมาใช้
- ให้ทำการลวกน้ำร้อนอุณภูมิประมาณ 70-80 องศาเซลเซียสอีกครั้งก่อนใช้งานทุกครั้ง
- โดยการกรอกน้ำร้อนลงไปในถุงบรรจุอาหาร เขย่า เทน้ำร้อนออกจนหมด
- จากนั้นจึงกรอกอาหารปั่นผสมที่เตรียมไว้บรรจุลงในถุงตามปริมาณที่นักโภชนาการได้กำหนดสัดส่วนไว้
เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการล้างทำความสะอาดถุงบรรจุอาหารเหลวทางการแพทย์และสามารถนำมาบรรจุอาหารรอบใหม่แล้วค่ะ
บทความน่าสนใจ
- เรียนรู้วิธีการให้อาหารทางสายยาง
- เราจะทราบได้อย่างไรว่าปลายสายยางให้อาหาร-อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม?
- เปรียบเทียบการให้อาหารทางสายยาง “ผ่านหน้าท้อง VS. ผ่านทางจมูก”
- รู้ทัน!! อาการผิดปกติที่พบบ่อยในผู้ป่วยรับอาหารทางสายยาง (ฉบับเต็ม)
- ภาวะกลืนลำบาก กลืนยากในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากอะไร?
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท